คอลัมน์ : Politics policy people forum
แนวโน้มการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันการเลือกตั้ง 2570 เหมือนปิดประตูตาย
เพราะหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถูกปรับแก้ในชั้นวุฒิสภาให้ใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ชั้นแรกผู้มาลงคะแนนประชามติ ต้องมีจำนวนเกินครึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนน ชั้นที่สองเสียงโหวตของประชามติในเรื่องนั้น ๆ จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่ง
แทนการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ที่เป็นร่างกฎหมายที่ผ่านชั้น สส. ซึ่งเกณฑ์ผ่านประชามติให้วัดกันที่คะแนนโหวตประเด็นประชามติ ฝ่ายไหนได้เสียงข้างมากถือว่าชนะ
เมื่อ สว.ที่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็น สว.สีน้ำเงิน แก้กฎหมายออกมาเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยมีพรรคภูมิใจไทย รับลูกในฝ่าย สส.
จึงกระทบกับเกมแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าอย่างจัง
ทั้ง สส.และ สว.ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่ายขึ้นมา โดยใช้ชื่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่) พ.ศ. … เพื่อ “หาทางออก” ว่าจะเอาเสียงข้างมากชั้นเดียว หรือเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือออกสูตรประนีประนอม ในชั้นแรก ให้ใช้จำนวน 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ
แกะชื่อ กมธ.ประชามติ
สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่าย สส.และ สว. มี 28 คน แบ่งเป็นฝั่ง สส. 14 คน จาก 7 พรรค คือ
พรรคประชาชน 4 คน คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ นายปกป้อง จันวิทย์ จาก The 101 นายณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์
พรรคเพื่อไทย 4 คน ประกอบด้วย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร)
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์
พรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.พรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา
ขณะที่ฝ่าย สว. 14 คน ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย 2.นายธวัช สุระบาล 3.พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 4.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. 5.นายอภิชาติ งามกมล 6.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 7.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 8.นายกมล รอดคล้าย 9.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 10.นายเอนก วีระพจนานันท์ 11.นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 12.นายพิชาญ พรศรีประทาน 13.นายสิทธิกร ธงยศ และ 14.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร
สว.ล็อกเก้าอี้ประธานสำเร็จ
ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่าย นัดแรก มีกระแสข่าวว่า มีตัวแทนพรรคเพื่อไทย และ สว.เปิดเกมเจรจานอกรอบ ให้ใช้สูตรประนีประนอมในเกณฑ์ผ่านประชามติชั้นแรก จากคนที่มาลงคะแนนจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ ให้ลดเหลือเพียงจำนวน 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ
ตอนแรกแนวโน้มน่าจะตกลงกันได้ แต่พอใกล้ถึงการประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก เมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ฝั่ง สว.ยืนยันที่จะเดินหน้าสูตรเสียงข้างมาก 2 ชั้นตามเดิม
ตอกย้ำด้วยผลของการประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก ที่ สว.ใช้ความเป็นเอกภาพในสายสีน้ำเงิน ชงชื่อ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.สายกฎหมาย อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นประธาน
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่งชื่อ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แข่งประกบ
ผลปรากฏว่าเสียงของ สส.สู้ไม่ได้ เนื่องจากเข้าประชุมไม่ครบตามสัดส่วน 14 คน เพราะมี สส.บางคนลาประชุม อีกทั้ง สส.บางคนไม่ลงคะแนน ขณะที่บางคนงดออกเสียง
สุดท้าย เก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการจึงเป็นของ สว. ที่ชื่อ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ”
ทำให้กลุ่ม สว. ผนึกกับพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ครองเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ ได้เก้าอี้ประธาน ไว้ “ชี้ขาด” กรณีสำคัญ ๆ ในที่ประชุม
เพื่อไทยแท็กประชาชน
เมื่อแนวโน้มการชิงเหลี่ยมในกรรมาธิการ ฝ่าย สส.ส่วนใหญ่ที่ต้องการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมกันมีประมาณ 10 เสียงต้น ๆ ไม่สามารถสู้กับ สว.ที่มากันเป็นแพ็ก 14 คนได้
ดังนั้น ตัวเดินเกมในพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน หารือกันนอกรอบ เมื่อเกมในกรรมาธิการสู้ไม่ได้ อาจจะต้องเล่นเกมใหญ่กว่านั้น
โดยให้คณะกรรมาธิการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณา ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ให้ “ยับยั้ง” ร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรจึงจะหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138
โดยเมื่อครบ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติยืนยันร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียวได้ทันที
โดยต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่า “กึ่งหนึ่ง” สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ซึ่งนาทีนี้พรรคเพื่อไทยมี สส. 142 คน ขณะที่พรรคประชาชนมี 143 คน หากครบ 180 วันไม่มีอุบัติเหตุการเมืองขึ้นอีก เพียงแค่ 2 พรรคจับมือกัน มีจำนวนเสียง สส. 285 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภา ไม่จำเป็นต้องสนใจ สว. ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงพรรคการเมืองที่ไม่เห็นชอบ
รัฐธรรมนูญไม่ทันรัฐบาลนี้
“นิกร จำนง” ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในวงแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล อธิบายเพิ่มเติมว่า การพิจารณาก็ควรจะทำให้ทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ เมื่อได้ข้อสรุปของกรรมาธิการร่วมกันแล้ว ก็ต้องนำเข้าที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อไปยังวุฒิสภาอีกครั้ง
แต่ถ้าไม่เห็นชอบสภาใดสภาหนึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกล็อก 180 วัน และเมื่อครบ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจะเอา พ.ร.บ.ของตนเองมาใช้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านที่ประชุมของวุฒิสภา ซึ่งตนก็เป็นกังวลว่าจะเป็นปัญหา เพราะไม่อยากให้มีปัญหา ควรจะคุยกันให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด
นิกรฟันธงว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงเกิดขึ้นไม่ทันในสมัยรัฐบาลนี้ เมื่อรวมเวลาแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทันในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะมีการทำประชามติพ่วงไปด้วย ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าให้ทันกับรัฐบาลชุดนี้จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อใช้ในช่วงเดือนเมษายนปี’70 แต่การเลือกตั้งทั่วไปก็จะต้องมีกฎหมายลูกอีก
ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไปยังไงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทัน และการเลือกตั้งทั่วไป ยังไงก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแน่นอน เพราะจะเร่งยังไงก็คงเร่งไม่ทัน