“หมอเกด” ระทึก เรื่องถึง กกต.ชุดใหญ่
จริงจังอย่างเงียบ ๆ คือการเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่มาพักใหญ่ และส่อเค้าว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองประเทศไทย ด้วยอำนาจการพิจารณาบุคคลเข้าสู่องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ประชุมพิจารณาคำร้องให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวุฒิการศึกษาของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. คะแนนสูงสุดจากกลุ่ม 19 หลังจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ซึ่ง กกต.ทั้ง 7 คนจะพิจารณาว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือจะต้องสืบสวน ไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจลงมติ อย่างไรก็ตาม กกต.ยังไม่พิจารณา เนื่องจากมีเรื่องเข้าระเบียบวาระจำนวนมาก จึงจะนำไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า หากที่ประชุมมีมติ จะต้องทำคำวินิจฉัย และทำคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยกเว้นว่า กกต.จะเห็นว่ามีบางประเด็นที่อยากให้มีการสืบสวน ไต่สวน หรือหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม อาจจะมีมติให้ไปหาหลักฐานมาก่อน แต่หากเห็นว่าเพียงพอที่จะชี้หรือมีมติได้ก็ลงมติได้เลย
ประเด็นสำคัญคือเรื่องวุฒิการศึกษา ในแง่ขั้นตอน หากถึงศาลรัฐธรรมนูญก็น่าลุ้นว่าหมอเกดจะได้ทำงานต่อ หรือต้องเลื่อน สว.ลำดับรองลงไปขึ้นมาแทน
ส่ง “สมชาย เล่งหลัก” ให้ “ศาล รธน.” เชือด
สว.รายต้น ๆ ที่ต้องพ้นจากสภาสูง คือ นายสมชาย เล่งหลัก ล่าสุด กกต.มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็น สว.ของนายสมชายสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาตามที่ กกต.เสนอ คือให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2566 นายสมชายซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.สงขลา เขต 9 พรรคภูมิใจไทย รู้เห็นสนับสนุนให้มีการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตน
กกต.จึงเห็นว่านายสมชายเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง สว. โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง กกต.จัดทำคำวินิจฉัยและยกร่างคำร้องก่อนจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป สำหรับนายสมชายมาจากกลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประกอบกิจการค้าขายปี 2562 ลงสมัคร สส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ
คดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2567 กว่า กกต.จะทำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลากว่า 1 เดือน หรือร่วม 1 เดือน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
จับตา สว.ชุดใหม่ อีก “พลังการเมือง”
ส่วนคดีอื่น ๆ ยังมีอีกหลายเคสที่ กกต.เรียกบรรดาผู้สมัคร สว.เข้าไปให้ข้อเท็จจริง รวมถึงสนามเลือก สว.กรุงเทพฯ ด้วย ทำให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.ไปไม่น้อย และคาดว่าน่าจะนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้พ้นจากบทบาทหน้าที่
การเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ปรากฏผลที่ทำให้หลายฝ่ายไม่พึงพอใจ เพราะเชื่อว่าโยงกับพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งจะทำให้การเมืองเข้ามาเชื่อมโยงการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่องค์กรต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยวุฒิสภา ซึ่งที่ผ่านมา สว.มาจากอดีตข้าราชการ ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และอื่น ๆ
น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็น ต้องการผลักดันให้ใช้กฎหมาย เพื่อให้สภาสูงพ้นหน้าที่แบบยกชุด และให้มีการเลือกใหม่ ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มาก
เป็น “มูฟ” ทางการเมืองที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก แต่เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันอยู่ในหลายแวดวง