ธนาธร แนะ ไทยแข่งในเวทีโลกได้ต้องยกระดับทักษะคนทำงาน-สร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ยังไม่สายที่ตามทันโลก
ที่พารากอนฮอลล์ชั้น 5 สยามพารากอน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมงาน Skill Force Expo 2024 บรรยายหัวข้อ “What’s Next? ก้าวต่อไปของคนไทยในแผนที่ธุรกิจโลก” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมา โดยรวมดูเหมือนเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่องแม้เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นช่วงๆ แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า ย้อนไปก่อนปี 1997 ครึ่งหลังในทศวรรษนั้น เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 5.3% ต่อปี หลังวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ปี 2008 เหลือ 3.2% ต่อปี และหลังวิกฤตโควิดอยู่ที่ 2% ต่อปี จะเห็นว่าการเติบโตลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละทศวรรษ สะท้อนขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันกับโลกที่น้อยลง ไม่สามารถรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้
ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาที่ถาโถมของประเทศไทยที่จะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตคือสังคมสูงวัย คนมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรมีอายุมากกว่า 60 ปี คำถามคือทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่มีลูก เพราะการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างครอบครัวที่มีบ้าน มีรถ ชีวิตแบบนี้เป็นไปได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ความท้าทายคืออีก 20-30 ปีข้างหน้า คนทำงานกี่คนต้องดูแลหรือแบกผู้สูงอายุในสังคม ข้อมูลปี 2553 สัดส่วนอยู่ที่เด็กหรือผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงาน 2.03 คน แต่แนวโน้มในปี 2583 สัดส่วนจะเปลี่ยนเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงาน 1.26 คน เท่ากับเราต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศขึ้นอีก 38% ใน 30 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยซ้ำ แต่เพียงเพื่อให้ประเทศไทยยืนอยู่ที่เดิมได้
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกับไทยมากนัก เช่น ไทยกับเกาหลีใต้ GDP per capita ในปี 1960 คนเกาหลีใต้ 1 คน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจได้ 158 เหรียญสหรัฐ ไทยอยู่ที่ 101 เหรียญสหรัฐ ต่างกัน 1.56 เท่า ผ่านมา 60 ปีวันนี้ต่างกัน 4.64 เท่า คำถามคืออะไรผลักดันให้แต่ละประเทศเติบโตต่างกัน
หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศที่ผลักดันตัวเองจนร่ำรวยต่างมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองทั้งสิ้น ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทในขณะที่ตนเป็นผู้บริหาร
เราต้องการแข่งขันกับโลก จึงลงทุนกับเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะของบุคลากรในองค์กร ทำให้การผลิตใช้คนน้อยลง ใช้พลังงานลดลง แต่ผลิตได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม แนวคิดแบบนี้ยังประยุกต์ใช้กับภาครัฐได้ เช่น ที่คณะก้าวหน้าทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ช่วยให้การออกบิลค่าไฟจากเดิมที่ต้องใช้วิธีเขียนมือ ใช้เวลา 42 ชั่วโมงต่อเดือน เมื่อเปลี่ยนเป็นการออกบิลแบบอัตโนมัติ เหลือเพียง 2 ชั่วโมงต่อเดือน ต้นทุนการใช้กระดาษก็ลดลง
ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสำเร็จของธุรกิจหรือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้องไม่มองว่าเป็นเรื่องง่าย เราต้องกลับมาฟูมฟักพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศให้ได้ ต้องสร้างทักษะของคน เช่น ปัจจุบันเรามีหุ่นยนต์ ทักษะใหม่ของคนทำงานคือการบำรุงรักษาหุ่นยนต์ การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แข่งขันกับโลกได้ อาจต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษในการบ่มเพาะทักษะ เทคโนโลยี ผู้คน และระบบนิเวศ
แต่ไม่สายที่จะเริ่ม ไม่ว่าภาคเอกชนหรือรัฐมีส่วนร่วมทำสิ่งนี้ได้ เพราะถ้าไม่ทำ นึกไม่ออกว่าเราจะอยู่รอดในบริบทปัจจุบันหรือแข่งขันกับประเทศอื่นในอนาคตได้อย่างไร