เอกนัฏ เผย รทสช. ไม่ขัดแก้รัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีนโยบาย แต่ห้ามแตะหมวด 1, 2-มาตรการปราบโกง เผย ‘พีระพันธุ์‘ ขอไปศึกษาข้อกฎหมาย-เอ็มโอยู 44 เพิ่มเติม ห่วงไทยเสียผลประโยชน์
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่าได้มีการพูดคุยกัน 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่าในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุน และพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112
และตนได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค รทสช. เรามีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นโยบายหลักของพรรค แต่หากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เราไม่ขัดข้อง แต่จะไม่ต้องแตะหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรการการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
นายเอกนัฏกล่าวว่า ส่วนจุดยืนของพรรค รทสช.ต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ภาพใหญ่ของพรรค รทสช. เรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วม ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือ เรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด
ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวว่า หลังประชุมพรรคร่วม ตนได้โทรศัพท์หานายพีระพันธุ์ สิ่งที่นายพีระพันธุ์ให้ความสำคัญคือ เรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมาย จึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัวเอ็มโอยู 2544 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเอ็มโอยู 2544 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง
ในส่วนของกระทรวงพลังงาน เป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม ซึ่งนายพีระพันธุ์ระบุว่า ในส่วนนี้ต้องดูให้ดี คำว่าผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายก็อยากได้ ทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการสัมปทานไปก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์จึงกำลังศึกษาอยู่ว่า หากเป็นไปแบบนั้นจริง ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น
แต่ในทางกฎหมายยังหมายรวมถึงพื้นที่ในทะเล หรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย ซึ่งเป็นที่มาที่ไทยได้ประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปเมื่อปี 2516 ไทยก็ต้องรักษาเขตแดนของเรา ส่วนการเจรจาผลประโยชน์ร่วมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน
“ยังไม่ถึงกับว่า นายพีระพันธุ์ไม่สบายใจเรื่องนี้ เพียงแต่สไตล์การทำงานของท่านต้องศึกษาให้เกิดความละเอียดในทุกเรื่อง จนกว่าท่านจะมั่นใจ เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำกันมา 20-30 ปีแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว ต้องทำให้รอบคอย อย่าให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ต้องไปดูว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” นายเอกนัฏกล่าว