นายกฯอิ๊งค์ยืนยัน ‘เกาะกูด’ เป็นของประเทศไทย

จากกรณีบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ปมพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งลงนามในปี 2544 (MOU44) กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย จนถูกโยงกลายเป็นการเมืองว่า อาจทำให้ไทยเสียพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ให้กับกัมพูชานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นโค้งท้ายปีของเกาะกูดเป็นอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวได้ยกเลิกการจองห้องพักล่วงหน้าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจหลักพันล้านบาท

ย้ำเกาะกูดเป็นของไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันภายหลังการประชุมร่วมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ได้คุยกันในเรื่องของ MOU44 ได้คุยกันในรายละเอียด วันนี้จะมาขอยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว และกัมพูชาก็รับรู้เช่นนั้นเหมือนกัน ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และรัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม

ซึ่งเรื่องเกาะกูดเป็นเรื่องที่เราไม่เคยมีปัญหากับกัมพูชาอยู่แล้ว ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย อาจจะมีแต่เกิดความเข้าใจผิดกันในประเทศไทยเอง

และในส่วนของ MOU44 ก็ยังอยู่ เพราะไม่สามารถยกเลิกได้ นอกจากใช้การตกลงกันระหว่างสองประเทศคู่สัญญา หากเรายกเลิกเองก็จะถูกฟ้องร้องได้ ซึ่ง MOU44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเกาะกูดเลย

ส่วนในพื้นที่ของทะเลนั้น มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่ในเนื้อหาของ MOU เป็น Agreement to Negotiate หรือข้อตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา

ADVERTISMENT

ประเทศไทยต้องมาก่อน

นายกฯแพทองธารกล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงจัดตั้ง (คณะกรรมการ JTC ฝ่ายไทย) เมื่อเสร็จแล้วก็จะได้มีการศึกษาและพูดคุยกัน ซึ่งก็ไม่น่าจะนาน เพราะมีการจัดตั้งมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ตนได้รับตำแหน่งประมาณหนึ่งเดือนก็เริ่มคุยกันเรื่องคณะกรรมการแล้ว แต่อาจจะต้องรอนิดนึงเพื่อให้ลงตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะรักษาประโยชน์ของประเทศไทยใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธารกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอกไว้ว่า ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด”

ADVERTISMENT

ตั้งบอร์ด JTC ใน 2 สัปดาห์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่า ที่ประชุมวันนี้ไม่มีการเสนอเรื่องตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee : JTC) เพื่อพูดคุยเจรจาตาม MOU44 แต่คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์ก็จะนำเข้า ครม.ได้

ส่วนเรื่อง MOU44 ที่คุยกันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเจรจา เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งทุกรัฐบาลมีมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังตั้งไม่เสร็จ ซึ่งต้องตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับประชาชนในแต่ละประเทศ

โดยคณะกรรมการจะต้องกรองข้อมูลก่อนที่จะมีการสื่อสาร เราต้องตั้งไว้เพื่อมีการพูดคุย ไม่ใช่คุยกันฝ่ายเดียว เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ส่วนคณะกรรมการจะมีใครบ้างจะขอบอกทีเดียว

MOU44 “เจรจาควบคู่กัน”

ด้าน นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า MOU44 เป็นเพียงกลไกและกรอบที่จะนำไปหารือและเจรจาในสิ่งที่เห็นต่างกันเท่านั้น “MOU44 ไม่ได้นำไปสู่การเสียดินแดนใด ๆ ทั้งสิ้น”

เขากล่าวว่า การเจรจาระดับชาติมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา Joint Technical Committee (JTC) ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงจากหลายหน่วยงาน เช่น ปลัดกระทรวงพลังงาน, กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, อัยการสูงสุด, คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น

ลำดับถัดมามีคณะทำงานย่อยของ JTC ทำหน้าที่เจรจาทั้งเรื่องเขตแดนพื้นที่ทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องต้องทำคู่กัน ไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดย MOU44 ระบุว่าการเจรจาเขตแดนเหนือเส้น 11 องศาเหนือ และการพัฒนาร่วมใต้เส้น 11 องศาเหนือ “แยกจากกันมิได้” ต้อง “เจรจาควบคู่กันไป”

“การจะตกลงกันว่าเรามาพัฒนาร่วมกันก่อนแล้วค่อยพูดคุยเรื่องเขตแดนจึงไม่สามารถทำได้” นายนพดลกล่าวย้ำ และว่าภายหลังจากเจรจายังมีขั้นตอนอีกมากเพื่อตรวจสอบ ตั้งแต่การนำเสนอ ครม.พิจารณา และเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งมี สส. และ สว.คอยตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลและพิจารณา ฉะนั้น ขอให้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันในสังคม

สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า การทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลต้องกระทำจากความผิดพลาด ไม่ใช่จุดประเด็นจากความเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องสำนึกถึงความเสียหายและผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งความมั่นคง ความสัมพันธ์ งบประมาณ เวลา และอื่น ๆ โดยมีบทเรียนให้เห็นจากกรณีคดีเขาพระวิหารมาแล้ว

“บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยความจริง ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยความเท็จ” อดีต รมว.ต่างประเทศกล่าว