อีเวนต์ปิดสภา 3 พรรคใหญ่ ใช้งานบุญโชว์ผลงาน-เดินหน้าศึก อบจ.

ผลงาน ปิดสภา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

การเมืองปิดฤดูกาล ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว เริ่มต้นกันใหม่ 12 ธันวาคม 2567

ในสภายังมี “ประเด็นร้อน” ที่ตกค้าง ที่รอคอยการสะสางหลังเปิดสมัยประชุม

ทั้งประเด็นการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่รัฐบาลรับปากว่าจะพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ใจความสำคัญยังไม่ลงตัวเรื่องนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ และโฉมหน้ากฎหมายที่จะออกโดยรัฐบาลเป็นอย่างไร

การแก้รัฐธรรมนูญในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อหาทางออกการทำประชามติ จะใช้เกณฑ์ตัดสินประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือชั้นเดียว รวมถึงข้อถกเถียงเรื่องการทำประชามติจะลดเหลือ 2 ครั้งได้หรือไม่

สุดท้ายต้องเริ่มกันใหม่ในเดือนธันวาคม

แต่ระหว่างนี้พรรคการเมืองเบอร์ใหญ่ พรรคการเมืองที่มี สส.มากที่สุด 3 อันดับ และเป็น “ตัวแปร” ทางการเมือง ต่างใช้เวลาปิดสมัยประชุม ลงพื้นที่อย่างหนักหน่วง

Advertisment

ใช้งานบุญ โฆษณาผลงาน

เริ่มจากพรรคเพื่อไทย 142 เสียง ในฐานะแกนนำรัฐบาล ไม่มีอีเวนต์อะไรพิเศษ แต่สั่งการให้ สส.เขตลงพื้นที่พบปะชาวบ้านให้มากที่สุด

โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ช่วงที่มีงานบุญ งานกฐิน ทั้งเดือนพฤศจิกายน และในทุกจังหวัด เพื่อใช้โอกาสนี้พบปะฐานเสียง ฐานคะแนนเพื่อไทย

Advertisment

เพื่อโฆษณาความสำเร็จของรัฐบาลแบบ “จัดเต็ม” โดยเฉพาะนโยบายที่ทำสำเร็จไปแล้ว ทั้งแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มีการสั่งการให้ใช้เครื่องมือสื่อสารทุกประเภท ทั้งในชุมชน หมู่บ้าน เก็บให้หมด สร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาล

ก่อนเปิดสมัยประชุม พรรคเพื่อไทยกาปฏิทินไว้ว่าจะมีการสัมมนาใหญ่พรรคเพื่อไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองในจังหวะต่อไป ช่วงกลางเดือนธันวาคม โดยจะมีแคมเปญนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปถึง หัวหิน

“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีอีเวนต์อะไรพิเศษ แต่สั่งให้ สส.ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านเต็มที่ ไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร เพราะหลังจากนี้จะมีการประชุมพรรค และเปิดสมัยประชุมสภา นอกจากจะนำข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนมาแจ้งต่อสภาแล้ว ยังบอกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

อีกด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยลุยศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยคณะยุทธศาสตร์ของพรรคตัดสินใจแล้วว่าไม่ส่งคนลงทุกสมรภูมิ แต่จะส่งเฉพาะพื้นที่ที่ลงแล้วเข้าเป้า ชนะคู่แข่งเท่านั้น ส่วนใหญ่ในพื้นที่อีสาน เพื่อไม่ให้เป็นการ “บั่นทอน” ขวัญกำลังใจการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีก 2 ปี

ภท.เข็นกฎหมายภาษีบ้านเกิด

ขณะที่พรรค 70 เสียง แต่มีอำนาจต่อรองสูง อย่าง “ภูมิใจไทย” ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรค มี “ไชยชนก ชิดชอบ” ลูกชายคนโตของ “เนวิน ชิดชอบ” เป็นเลขาธิการพรรค เตรียมลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน

“แนน บุณย์ธิดา สมชัย” สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องลงพื้นที่มีการทำอยู่แล้ว ล่าสุดมีเลขาธิการพรรคลงพื้นที่พร้อม สส.พรรค 5-6 คน ไปตามความต้องการของ สส. โดยบอกว่าการลงพื้นที่ของ สส.ธรรมดา ไปแบบนี้ไม่ต้องมีใครมาต้อนรับ จะได้เจอประชาชนจริง ๆ ได้เจอเด็ก ๆ มาเล่าถึงปัญหา เสนอมุมมองที่ต้องการให้แก้ไข โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ เพราะถ้าเป็นรัฐมนตรีของพรรคลงพื้นที่ก็จะมีคำว่าราชการอยู่ ข้าราชการมาต้อนรับเพราะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ

พื้นที่จะลงไปรับฟังความเห็น อาทิ ลงไปยะลา สุราษฎร์ธานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง จะเป็นการแรนดอม เพื่อดูเรื่องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ SEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

นอกจากนี้ ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา พรรคภูมิใจไทย จัดอีเวนต์รับฟังความคิดเห็นด้านกฎหมาย 2 ฉบับ เมื่อถึงคิวเปิดสมัยประชุมสภาจะยื่นเข้าสภาเพื่อบรรจุวาระทันที คือ พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คืนภาษีให้บ้านเกิดเมืองนอน

เราจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ของเด็ก นักศึกษา เอาปัญหาเหล่านั้นมาเป็นการแมตชิ่งปัญหากับการแก้ไขผ่านกฎหมาย

ด้าน สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขยายความเรื่องภาษีบ้านเกิดเมืองนอนว่า เป็นนโยบายการกระจายอำนาจของพรรคภูมิใจไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายงบประมาณ และกระบวนการมีส่วนร่วม จึงมองว่าก้าวแรกของการกระจายอำนาจคือการตรากฎหมายใหม่ ไปพร้อม ๆ กับการแก้ไขกฎหมายชั้นรอง ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค อะไรเดินหน้าได้ง่ายก็ทำก่อน ตัวไหนยากก็เอาไว้สุดท้าย

ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งมีลักษณะเป็นภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการที่ไปทำธุรกิจในพื้นที่ท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินในการพัฒนาท้องถิ่น

“หลักการกระจายอำนาจอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าควรทำก่อนเลย คือกระจายงบประมาณ ภาษีบ้านเกิดเมืองนอนจะเป็นลักษณะภาษีที่เก็บกับผู้ประกอบการที่ไปทำงานอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อคุณมาใช้ทรัพยากรที่นี่ คุณต้องมีส่วนในการเสียภาษีและเอามาพัฒนาทรัพยากรที่นี่

สอง ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกเหมือนตอนที่ไปบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง ว่าเราจะบริจาคเงินให้พรรคไหน แต่ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิเลือกเลย ว่าเงินที่เราเสียภาษี 20-30% ไปพัฒนาที่ไหน จังหวัดไหน เงินภาษีนั้นให้นำไปใช้ในพื้นที่ใดที่เราเห็นว่ามีความเหมาะสม มีความจำเป็น”

4 ขา ปชน.รุกเกมสภา

ด้านพรรคประชาชน (ปชน.) 143 ที่นั่งในสภา มี “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้าน เดินหน้ากิจกรรม “เท้ง ทั่ว ไทย” คิกออฟไปตั้งแต่ 20 ตุลาคม ตั้งเป้าจะเดินสายครบ 77 จังหวัดใน 1 ปี

“พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชนกล่าวถึงการทำอีเวนต์ช่วงปิดสภาว่า งานของพรรค ปชน.เดินหน้าต่อ เราจะมีงานหลัก ๆ อยู่ 4 ด้านคือ 1.การผลักดันและรณรงค์เรื่องร่างกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเราได้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก ที่มีหลายร่างประสบความสำเร็จใน 1 ปีแรก

โดยได้รับความเห็นชอบจากสภา เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ตีเด็ก โดยที่ไม่มีร่างของพรรครัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกบเลย สิ่งที่เราจะทำในช่วงปิดสมัยประชุมคือ การพยายามรณรงค์ให้สังคมได้รับรู้ถึงร่างกฎหมายที่เราได้เสนอไปแล้ว และคาดว่าจะได้เข้าสู่การพิจารณาทันทีในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา

2.งานในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เป็นอีกงานหนึ่งที่เราต้องมีการดำเนินต่อ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถเดินหน้าต่อได้ เช่น กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.เป็นประธาน ก็มีโครงการนักสืบทุนเทา ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้

3.ลงพื้นที่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ที่เรามี สส.เขต และไม่มี สส.เขต เพื่อรับฟังปัญหาและเตรียมนำปัญหานั้นมาแก้ไขผ่านกลไกสภา

4.งานในส่วนท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันเรามีสนามท้องถิ่นหลายสนาม ที่เรามีการเปิดตัวผู้สมัครไปแล้วหลายจังหวัด เช่น ล่าสุดคือนายก อบจ.

เป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองลงพื้นที่พบประชาชน เช็กเรตติ้ง กู้คะแนนเสียง เซตวาระการเมืองใหม่ในสมัยประชุมหน้า