การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงมาก หลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้ความสำคัญพรรคการเมืองและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
มาถึงเวลานี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงในอีกทิศทาง
การเลือกตั้งครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือเลือกตั้ง 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย
แม้จะต้องผสมกับพรรคอื่น ๆ เพื่อตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในระดับสูง แต่ก็ถือว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแกนนำที่มีอำนาจค่อนข้างเด็ดขาด
และเป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “รัฐบาลผสม” ที่พรรคแกนนำมีจำนวนเสียงมาก
การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มาก็เช่นกัน ได้แก่การเลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทยนำลิ่ว ขณะที่มรสุมการเมืองเริ่มก่อตัว
ก่อนจะเกิดรัฐประหาร 2549 ทำให้ นายกฯทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นพ้นตำแหน่งและต้องลี้ภัยในต่างประเทศ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามารับหน้าที่นายกฯ ตั้งรัฐบาล “ขิงแก่” ร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว เรียบร้อยใน 1 ปี แล้วจัดเลือกตั้งทั่วไป
พรรคพลังประชาชนเป็นพรรคที่มาแทนไทยรักไทย และชนะเลือกตั้ง 2550 แบบขาดลอยอีก และดึงเอานายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกฯ
รัฐบาลผสมในยุคนี้ยังเดินตามรอยเดิม พรรคแกนนำคือพลังประชาชนมีอำนาจต่อรองสูงเป็นพิเศษ
ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนายสมัครไปรับจ้างทำกับข้าว ต้องพ้นจากตำแหน่ง และสั่งยุบพรรคพลังประชาชนจากคดีเลือกตั้ง
ทำให้ต้องอพยพไปเข้าพรรคเพื่อไทย ในปี 2551 แต่บางส่วนแยกไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย
พรรคประชาธิปัตย์จัดรัฐบาล โดยเป็นแกนนำเอง ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน จากปี 2551 ถึง 2554
ระหว่างนี้เกิดวิกฤตการเมืองในปี 2552-2553 เกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดง การสลายม็อบในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 199-200 ศพ
บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
เกิดการยุบสภาในปี 2554 แล้วจัดเลือกต้ั้ง พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นอันดับ 1 อีก เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผลจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย ทำให้เกิดม็อบชุมนุมขับไล่ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เดือน ธ.ค. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ยุบสภา
กำหนดเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557 แต่ถูกขัดขวางอย่างหนัก สุดท้ายศาลสั่งให้เป็นโมฆะ
ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยคดีย้ายข้าราชการ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากรักษาการนายกรัฐมนตรี
22 พ.ค. 2557 คณะทหารทำรัฐประหาร และอยู่ในอำนาจจนปี 2562 จัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล
รัฐบาลผสมมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ค. 2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นที่สอง และได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก่อนพ้นตำแหน่งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ารับหน้าที่นายกฯ จนปัจจุบัน
น่าจะเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาลที่มีอำนาจต่อรองในมือน้อยลงจากที่ผ่าน ๆ มา ด้วยปัจจัยจากผลเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมรัฐบาล
และปัจจัยสำคัญคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยกร่างวางกลไกและข้อจำกัดต่าง ๆ ไว้
ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกนัก เห็นได้จากการผลักดันหลาย ๆ นโยบาย ต้องฝ่าฟันมากเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่น ดิจิทัลวอลเลตที่ต้องปรับกันหลายรอบ กว่าจะเริ่มแจกได้ก็ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร
นโยบายสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคอื่น ๆ ผลักดันตั้งแต่ปี 2562 มาถึงบัดนี้ ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้คำว่า “นิติสงคราม” เป็นอุปสรรคใหญ่ และส่งผลมากขึ้นเรื่อย ๆ
จะก้าวข้ามหรือทะลุผ่านไปอย่างไร น่าจะต้องปรับแผน ปรับกระบวนท่ากันพอสมควร