
แพทองธารพร้อมภูมิธรรมเคลียร์ปม MOU 2544 ลั่นเรื่องเดียวที่ต้องเร่ง ตั้งคณะกรรมการ JTC ให้เสร็จกลาง พ.ย. หลัง ‘ฮุน มาเนต‘ ทวงถาม ยันกัมพูชาพร้อมหนุนทุกเรื่อง
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี MOU 2544 จำเป็นต้องนำเข้าสภาเพื่อหาข้อยุติ ก่อนจะเดินหน้าเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาหรือไม่ ว่าตัว MOU 2544 ยอมรับว่ายังไม่เคยเข้าสภา เพียงแต่ยึดหลักการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ซึ่งเป็นหลักที่เสรี เพราะทั้งไทยและกัมพูชาตกลงร่วมกันที่จะเจรจา
ส่วนกรณีที่ตนเคยระบุว่าจะโดนกัมพูชาฟ้อง หากใครยกเลิก MOU 44 นั้น ตนขอชี้แจงว่า เรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก หากจะยกเลิก ยกเลิกเพื่ออะไร และยกเลิกทำไม และหากยกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร คนไทยต้องคิดในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ควรจะมายกเลิกฝ่ายเดียว และทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ต้องมีการพูดคุยกันก่อน จึงอยากขอเวลาเพื่อที่จะไปพูดคุยกัน
นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำกัมพูชา ซึ่งทางผู้นำกัมพูชาได้ถามว่ามีอะไรที่จะให้ทางกัมพูชาสนับสนุนประเทศไทยหรือไม่ ก็ให้แจ้งมา ซึ่งตนบอกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสาร ให้ประชาชนได้เข้าใจมากกว่า ว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ถึงแม้ว่าการขีดเส้นของ 2 ประเทศจะไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นที่มาของ MOU 2544 แล้วให้ไปเจรจากัน นี่คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ

และเชื่อว่าหลังจากกลับมาจากการประชุมเอเปค ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ การจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคก็จะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนได้แจ้งไปทางกัมพูชาแล้วว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทยจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะพูดคุยกันผ่านคณะกรรมการชุดนี้
เมื่อถามว่า เมื่อ MOU ดังกล่าวยังไม่เข้าสภา ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ใช่หรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้หันไปสอบถามนายภูมิธรรมว่าสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ซึ่งนายภูมิธรรมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมยืนยันว่า MOU ดังกล่าวสมบูรณ์แล้ว เรื่อง MOU เป็นการพูดคุยกัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงเรื่องไหล่ทวีป จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสภา ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว
แต่หากได้ผลการเจรจาและมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาจะต้องเข้าสภา คำว่าสมบูรณ์หมายถึงข้อตกลงร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างประกาศเขตแดนซึ่งไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างมีเส้นเป็นของตัวเอง MOU 2544 ให้ทั้ง 2 ประเทศมาพูดคุยกัน ว่าเส้นตรงนี้จะยึดเส้นใด เรื่องอธิปไตยมันยังไม่จบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า MOU ไม่ใช่ตัวชี้ว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร เพียงแต่เมื่อเส้นของสองฝ่ายไม่ตรงกันจึงต้องพูดคุยกัน และไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เป็นข้อตกลงทั้งสองประเทศเรียบร้อยแล้วและเข้าใจตรงกัน
ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่ากัมพูชาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมในสนธิสัญญาเจนีวาจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า สนธิสัญญาเจนีวา เขาประกาศกฎหมายทางทะเล ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ต้องยอมรับสนธิสัญญานี้ และการเจรจาทั้งหมดก็ต้องยึดกรอบกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีผลครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก มองว่าไม่ใช่ปัญหา และในสนธิสัญญาได้ระบุชัดเจน เป็นสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อมาเจรจาเรื่องเขตแดนโดยสันติ และหลังจากคุยกันแล้วได้ข้อสรุปอย่างไรค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง
พร้อมยืนยันว่าจะต้องรีบจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยก่อน เนื่องจากฝ่ายกัมพูชามีอยู่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มการเจรจา ซึ่งผูกพันอยู่ 2 ส่วนคือผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดนที่ชัดเจน
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า การเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลสามารถชะลอได้ เพื่อให้ข้อท้วงติงอื่น ๆ ได้ข้อยุติ เพียงแต่การจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยจะต้องมีขึ้น หากไม่มี ฝ่ายกัมพูชาก็จะไม่รู้ว่าจะพูดคุยอะไรกัน ยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่ต้องรีบเร่ง
ส่วนเนื้อหาภายในไม่ต้องเร่ง ซึ่งตนได้พูดคุยกับทางกัมพูชา พูดตรงกันว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่ต้องพูดคุยให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน และมองว่าหากการจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเสร็จทุกอย่างจะง่ายขึ้น มีการตรวจสอบได้ การพูดคุยของทั้ง 2 ประเทศก็จะเกิดขึ้น ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่การขีดเส้นให้กับสื่อมวลชน ซึ่งเส้นที่กัมพูชาขีดนั้นเขาอ้อมเกาะกูด ดังนั้น เกาะกูดไทยไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขตรงนี้ และทางกัมพูชาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ และเขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับเรา และเขาก็ถามอยู่เรื่องเดียว คณะกรรมการเทคนิคฝ่ายไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด