เช็กความฝืด ‘การเมือง’ เดินได้แต่ ‘ไม่คล่องตัว’

โดนัลด์ ทรัมป์

เศรษฐกิจการเมืองโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตากันต่อไป เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” คัมแบ็ก ทวงเก้าอี้ประธานาธิบดีได้สำเร็จ ชนะ “คามาลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครตไปแบบไม่ต้องลุ้นมากนัก

ระบบการเมืองที่แข็งแกร่ง มีความแน่นอน ใช้เสียงประชาชนเป็นหลักในการบริหารงาน ทำให้สหรัฐอเมริการักษาความเป็นมหาอำนาจของโลกมาได้ตลอด

การเมืองในโลกตะวันตกมีระบบแบบแผน ส่งผลต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ขณะที่ในโลกตะวันออก การเมืองหลากหลายผสมผสาน อย่างในอาเซียน ไทยกับเพื่อนบ้านมีการเมืองที่แตกต่างกันมาก

การเมืองโลกเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ต้องศึกษา เพื่อจะได้คุยกับเขารู้เรื่อง บางอย่างอาจต้องปรับมาใช้

เรื่องดีของไทยคือ แม้เกิดรัฐประหารไม่หยุดหย่อน เพราะใช้รัฐประหารมาแก้ปัญหาการเมือง แต่สุดท้ายก็ต้องเลี้ยวกลับมาสู่การเมืองที่ประชาชนกำหนดผ่านการเลือกตั้ง ผ่านพรรคการเมือง

แต่หลัง ๆ การเลี้ยวกลับมาสู่ระบบรัฐสภา คืนอำนาจให้ประชาชนหลังรัฐประหารไม่ค่อยเหมือนในอดีต

Advertisment

เพราะอำนาจที่คืนกลับมา ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับตอนที่ยึดไป

ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้อำนาจและสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง อาทิ มี สว.จากเลือกตั้ง มีองค์กรอิสระที่ สว.จากเลือกตั้งให้ความเห็นชอบ

Advertisment

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557 มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อำนาจในการเลือก สว.ของประชาชนหายไป กลายเป็นระบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกี่ยวข้อง

การตรวจสอบฝ่ายการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นฉบับล่าสุด เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ “จริยธรรม”

ทำให้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ “นิติสงคราม” ที่ใช้ขับเคลื่อนการเมือง ตามแนวคิดของฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา

รัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2562 ทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะมีผู้นำที่สืบทอดจากรัฐบาลหลังรัฐประหาร

แต่รัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2566 เป็นหนังคนละม้วนไปเลย

ตั้งรัฐบาลขึ้นมา แต่ผลักดันนโยบายไม่ได้ มีหน่วยงานภาครัฐออกมาต่อต้าน หนัก ๆ เข้าถึงขั้นต้องเปลี่ยนนายกฯ ตั้งรัฐบาลกันใหม่

รัฐบาลใหม่นำโดย “นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” ดูเหมือนผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ได้ เช่น การแจกเงิน 1 หมื่นบาท

และกำลังจะเปิดเฟสสองในปีใหม่ 2568 รวมถึงคิกออฟนโยบายใหม่ ๆ อีก ได้แก่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์

แต่ก็ยังวางใจไม่ได้อยู่ดี จะทำอะไรสักอย่างต้องระวังกันแจ อย่างเรื่องการเจรจาตาม MOU 44

หรือการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยผลักดันผู้อาวุโสของตนเองเข้ามาทำหน้าที่ แต่โดนต่อต้านหนักจนต้องเลื่อนประชุม

เรียกว่าชนกับระบบที่ออกแบบไม่ต้องการให้การเมืองเกี่ยวข้องเข้าจังเบอร์

ทั้งที่เป็นงานฝ่ายบริหาร ที่การเมืองกับหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศและของประชาชน

รัฐบาลเหมือนจะมีอำนาจในการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ที่ใช้อำนาจบริหารอันเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย

แต่ใช้อำนาจตามหลักการไม่ได้ หรือใช้อำนาจไป อาจนำไปสู่การร้องเรียน การกล่าวโทษ

สุดท้ายอาจจะกลายเป็นผู้ถูกร้องผู้ถูกกล่าวโทษ ดังที่ทราบกันว่า นายกฯอิ๊งค์ต้องเผชิญกับ 20 คำร้องแล้ว

ระบบการเมืองที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อต่อรัฐบาลที่มาตามระบบ จึงเป็นเหตุให้พรรคต่าง ๆ ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่

แต่มาถึงวันนี้ เสียงเริ่มแผ่วลงไปบ้าง เสียงเริ่มแตกบ้าง

มีทั้งคนที่ยังยืนยันจะแก้ และยืนยันจะไม่แก้ แต่ด้านที่จะไม่แก้มีความเป็นไปได้มากกว่า

สิ่งที่คาดหมายได้ตอนนี้ก็คือ หากไม่แก้กฎกติกา การทำงานของรัฐบาลจะยากขึ้นเรื่อย ๆ

เหตุปัจจัยสำคัญมาจาก “ข้อจำกัด” ที่บรรจงเขียนดักเอาไว้

ในนามของ “การปฏิรูป” และ “ปราบโกง”