“มาร์ค” กั๊กตอบจับมือ รปช. บอกต้องดูนโยบาย ย้ำจุดยืนวิจารณ์ คสช.หลังปฏิรูปเหลว

“มาร์ค” กั๊กตอบจับมือ รปช. ทั้งที่อุดมการณ์พรรคคล้ายกัน อ้างต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นด้วย จับไต๋ “สุเทพ” พลิ้วหนุน “บิ๊กตู่” ปัด ปชป.ไม่มีแนวคิดตั้งพรรคสาขา-นอมินี

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กรณีสังคมไม่เชื่อจุดยืนของการพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ว่าอาจเป็นเพราะท่าทีที่ผ่านมาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง รปช. ค่อนข้างชัดเจนว่าสนับสนุน อีกทั้งมีข่าวว่าจะมีการตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ช่วงหลังมีหลายพรรคที่แสดงท่าทีจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งพรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคพลังประชารัฐ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตอบตกลงแก่พรรคการเมืองได้เพียง 1 พรรค ทำให้ทุกคนเก็งว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะยอมคงต้องยอมกับพรรคที่คนในรัฐบาลปัจจุบันขับเคลื่อนมากกว่า คือ พรรคพลังประชารัฐ นั่นเอง ดังนั้น หากยังไม่มีความชัดเจนก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าพรรค รปช.จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายสุเทพก็ไม่ได้ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงบอกให้รอฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ต่อไป เพราะทุกพรรคต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่สังคมไม่เชื่อใจนายสุเทพจะเลิกการเมืองจริงนั้น คิดว่าไม่ใช่เรื่องเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เป็นการตีความในช่วงชุมนุม กปปส.ที่นายสุเทพพูดว่าเลิกเล่นการเมือง ว่าเข้าใจอย่างไร

เมื่อถามว่า อุดมการณ์การของ รปช.ที่แถลงดูเหมือนจะไม่แตกต่างกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า จุดยืนของพรรคในการปฏิรูปชัดเจน และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากหลายคนของ รปช. อย่างไรก็ตาม 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำใน 3-4 ข้อของการปฏิรูป เช่น การกระจายอำนาจชัดว่าสวนทาง ปัญหาการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มักมองข้ามมิติการเหลื่อมล้ำ ทำให้ตนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ค่อนข้างมาก ถ้าพรรคใหม่ยืนยันหลักการเหล่านี้ จะต้องดูท่าทีในการกำหนดนโยบายว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจากประชาธิปัตย์ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไร

นายอภิสิทธิ์ยังยืนยันว่า ประชาธิปัตย์ไม่มีสาขาแน่นอน พรรคไม่มีแนวคิดเรื่องพรรคสาขา หรือพรรคนอมินี และเชื่อว่านายสุเทพไม่ประสงค์จะเป็นสาขาของใคร และเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคการเมืองต้องแย่งฐานเสียงกันเอง โดยเฉพาะพรรคที่มีแนวความคิดคล้ายกัน ส่วนจะทำงานร่วมกันหรือไม่นั้น ต้องดูว่าแนวคิด นโยบาย คล้ายกันหรือไม่ ถ้าคล้ายก็ร่วมงานกันไม่ยาก ต้องรอดูและให้เวลาเขาทำงานก่อน และประเด็นสำคัญ คือ จะต้องดูว่าเวียนไปสนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ตอบชัดเจนคงยากต้องดูต่อไป เพราะยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง เช่น กระบวนการการเลือกตั้ง ท่าทีที่แสดงต่อสาธารณะ เป็นต้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์