อนุทิน การันตี ‘เกาะกูด’ เที่ยวได้ ลั่นตั้ง คกก.พัฒนาร่วมไปต่อ ไม่ได้ก็แค่ยุติ

อนุทิน ขนคณะลงพื้นที่การันตี ‘เกาะกูด’ ไม่อยู่ในปมร้อนเอ็มโอยู 44 ย้ำเป็นของไทย ชวนนักท่องเที่ยวมาเยือน แจงตั้ง คณะกรรมการคุยพัฒนาร่วมพลังงาน-เศรษฐกิจ หากไปต่อไม่ได้ก็แค่ยุติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เดินทางลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนและมอบนโยบายข้าราชการในพื้นที่

ช่วงหนึ่ง นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ต้องมาเกาะกูดให้เห็นกับตาว่าที่มีกระแสข่าวเอ็มโอยู 44 เรื่องการอ้างพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลต่างๆ ระหว่างประเทศของเรากับประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจจะทำให้เกิดความสับสนถึงขั้นไม่สบายใจ โดยเฉพาะกับประชาชนในอำเภอเกาะกูด ตนจึงต้องเรียนให้ทราบว่าเราอย่าไปเปลืองพื้นที่สมอง และพื้นที่อารมณ์กับข้อสงสัยที่ว่าเกาะกูดเป็นของใคร

เพราะเป็น 100 ปีมาแล้วเกาะกูดเป็นของไทย เป็นเกาะที่อยู่ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย มีสถานะเป็นอำเภอแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้นข้อสงสัยความกังวลต่างๆ ตนอยากให้ทุกคนเกิดความสบายใจว่าไม่มีใครเอาเกาะกูด ออกจากประเทศไทยได้เป็นอันขาดแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อย่าไปสนใจเส้นที่ลากมาจากด้านไหนหรือลากโดยใครก็ตาม เพราะมันมีความชัดเจนอยู่แล้ว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีคำถามถึงสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ให้คิดกันง่ายๆว่าวันนี้ที่พวกเราเดินทางมาถึงเกาะกูด ท่านเอาพาสปอร์ตมาด้วยหรือไม่ ต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมืองหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ต้องทำกระบวนการเช่นนั้นเลย ออกจากตราดนั่งเรือมาเกาะกูดเช็คอินเข้าพักใช้บัตรประชาชนใช้เงินบาทแค่นั้นก็จบแล้ว

“จริงๆมาเกาะแบบนี้น่าจะใส่เสื้อฮาวาย หมวกปานามา ใส่กางเกงขาสั้น ใส่แว่นกันแดดมา แต่วันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผมและคณะใส่ชุดข้าราชการที่เราปฏิบัติราชการขึ้นมาอยู่บนเกาะกูด แบบนี้จะเป็นของใครได้นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

Advertisment

แม้แต่ข้าราชการในพื้นที่ก็แต่งเครื่องแบบด้วยความภาคภูมิใจ ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าท่านคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของราชอาณาจักรไทย และท่านเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายไทยในการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่เกาะกูดแห่งนี้ ดังนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผมต้องขอความกรุณาว่าท่านได้เหรียญที่ได้รับพระราชทานมาให้ติดด้วยความภาคภูมิใจ ว่าเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่ดูแลชาวบ้าน”

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า วันนี้หากพูดเรื่องเอ็มโอยู 44 เขากำหนดไว้ในปี 2544 วัตถุประสงค์เพื่อวางกรอบในการพูดคุยเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการด้านเทคนิคที่แต่ละประเทศตั้งขึ้น ซึ่งมีหัวข้อว่าจะมีแนวทางในการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างไร เพราะในอ่าวไทยมีก๊าซมีปิโตรเลียม น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งเราต้องหาวิธีนำขึ้นมาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะลดลงได้

Advertisment

นอกจากนี้ วัตถุประสงค์เพื่อจะแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะอย่างไรให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเราพูดแบบชาวบ้านคุยกันอ่านถ้อยคำในเอ็มโอยู 44 ฟังแล้วก็งงตั้งแต่นาทีแรก ก็เอาเป็นว่าทั้งสองประเทศมีทะเลขวางกันอยู่ ประเทศหนึ่งขีดเส้นหนึ่งเส้น

อีกประเทศขีดเส้นอีกหนึ่งเส้น แล้วทั้งสองประเทศเส้นดันมาเกยกันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน พอเป็นเช่นนี้ถามว่าเราจะรบกันเลยหรือเพื่อชิงพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้นเพราะในยุคนี้สมัยนี้เราต้องนึกถึงความสงบความสันติในพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องตั้งคณะกรรมการทั้งสองประเทศขึ้นมาคุยกัน แต่ต้องยึดหลักสากลคือหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องทรัพยากร เรื่องเขตทางทะเลว่าจะขีดเขตทางทะเลออกไปอย่างไร จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ทั้งสองประเทศจะตั้งขึ้นมาแล้วพูดคุยกัน

“เอ็มโอยู 44 ไม่ใช่สัญญาว่าคุณจะขุดออกไปกี่กิโลเมตรหรือจะขุดร่วมกันหรือไม่ ซึ่งยังไม่ถึงจุดนั้น ตอนนี้เพียงแต่จะหาความเห็นร่วมกันก่อนว่าแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศครอบครองเท่าไหร่ในทางทะเล ผมขอย้ำว่าเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของดินแดนไม่ใช่เรื่องของแผ่นดิน เกาะกูดจึงเป็นดินแดนของประเทศไทย เรื่องเกาะกูดไม่มีอยู่ในเอ็มโอยู 44 และเมื่อเห็นตกลงเมื่อไหร่ตามเอ็มโอยูก็จะมีการสร้างสนธิสัญญาพัฒนาร่วม ซึ่งส่วนนั้นยังอีกห่างไกลกว่าจะไปถึงจุดนั้น

ซึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อนบ้านก็คงระบุไว้เช่นกัน ว่าก่อนที่จะไปทำสนธิสัญญากับใครต้องได้รับความเห็นจากรัฐสภาของแต่ละประเทศก่อน จึงมีขั้นตอนอีกมากกว่าจะถึงจุดนั้น แล้วหากถึงที่สุดแล้วตกลงกันไม่ได้เห็นไม่ตรงกันก็ยกเลิกกันไป ดังนั้น จึงไม่ต้องมานั่งบอกว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเอ็มโอยู เพราะเอ็มโอยูบอกแค่ว่าให้มาคุยกัน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับชาวบ้านเกาะกูด ไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาพักผ่อนที่เกาะกูด ส่วนที่มีข่าวนักท่องเที่ยวเห็นข่าวจึงชะลอการมาเที่ยวเกาะกูดยกเลิกห้องพัก ตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ประกอบอาชีพสุจริต ผู้ประกอบการโรงแรม โฮมสเตย์ต่างๆ ไม่แฟร์กับพวกท่านเลยด้วยข่าวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ

ดังนั้น การเดินทางมาเกาะกูดวันนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าเกาะกูดไม่ใช่ประเด็นของปัญหา ขอให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยว ขอให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตตามปกติ เอ็มโอยู 44 ไม่มีส่วนใดเลยที่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อเกาะกูดของพวกเรา ซึ่งอาณาเขตของประเทศไทยรัฐบาลมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และเขตแดนของประเทศไทยอยู่แล้ว

จากนั้น นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์กรณีเอ็มโอยู 44 ที่มีกระแสขึ้นมาเกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดการบิดเบือนใช่หรือไม่ ว่า ไม่เกี่ยว มีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาตรงกับช่วงเวลาสับเปลี่ยนคณะกรรมการเพราะชุดเดิมพ้นจากรัฐบาลนี้แล้ว

ส่วนคณะกรรมการชุดใหม่ ควรจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นใครก็ได้ มั่นใจว่าคนที่เป็นข้าราชการการเมืองเป็นคนไทย หากต้องเจรจาประโยชน์ให้กับประเทศอื่นจะเรียกเป็นคนไทยได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้เหนือสิ่งอื่นใด