รื้อ รธน.เจอ “ทางตัน” ดันตั้ง “ส.ส.ร.” ไว้ก่อน

wall

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 12 ก.ย. 2567 ตอนหนึ่งระบุว่า

ประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้ง แบ่งขั้วอุดมการณ์ที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส

รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ

เป็นคำประกาศว่าจะดำเนินการให้มี “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ซึ่งเป็นโจทย์ยากอันดับแรก ๆ ของรัฐบาลนี้เลยก็ว่าได้

ทำไมถึงยาก ตอบได้ว่าเพราะตัวรัฐธรรมนูญ 2560 เองบัญญัติให้การแก้ไขทำได้ยาก ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา 1 ใน 3 ทั้งวาระที่ 1 และวาระ 3

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้ สว.ชุดแรก จำนวน 250 คน มาจากการสรรหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ สว.ชุดต่อมาจำนวน 200 คน มาจากระบบ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัครกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

ADVERTISMENT

ดังนั้น แม้สภาผู้แทนฯ ทั้่งสภาเห็นชอบ แต่ สว.เห็นด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 ก็เป็นอันตกไป

การกำหนดที่มาของ สว.ไว้ในลักษณะดังกล่าว ทำให้การแก้ไขเป็นเรื่องยากโดยอัตโนมัติ

ADVERTISMENT

และยิ่งยาก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ

พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ได้ล็อกไว้อีกชั้น ทำให้ยากขึ้นไปอีก โดยกำหนดเกณฑ์การออกเสียงประชามติว่า จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิ 50% และลงคะแนนสนับสนุนประเด็นประชามติ 50% ขึ้นไป ที่เรียกว่าเป็น Double Majority

สภาผู้แทนฯ จึงแก้ไข กำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิ 50% และเสียงข้างมาก เห็นด้วยในประเด็นที่ทำประชามติ ก็ถือเป็นประชามติ ผ่านสภาผู้แทนฯ ไปเข้า สว.เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ผลคือวุฒิสภาแก้กลับไปใช้ดับเบิลมาจอริตี้ ทำให้คาราคาซัง หากสภาผู้แทนฯ ต้องการลงมติยืนยันร่างเดิม ต้องรอให้ผ่าน 180 วันไปก่อน

เดิมรัฐบาลเล็งไว้ว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญพร้อมกับเลือก อปท.ในปี 2568 ตอนนี้ต้องขยับปฏิทินออกไป จนกล่าวกันว่า การแก้ไขอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้

และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง เสนอว่า ถ้าไม่ทันก็ขอให้เริ่มตั้ง ส.ส.ร.เอาไว้ก่อน เพื่อยกร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าแบบนี้ก็เท่ากับว่า เลือกตั้ง 2570 หรือเมื่อไหร่ก็ตาม จะต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 กันไปก่อน

แล้วค่อยเอาร่างรัฐธรรมนูญไปเข้าสภาชุดหน้า

นั่นคือ “ไอเดีย” ส่วนปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครอยากชี้ชัด

และเข้าใกล้ความเป็นตำนานรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์มากขึ้นอีก