
“ทักษิณ ชินวัตร” มิได้เป็นเพียงผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ในสมรภูมิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรราชธานี
แต่ยังเป็น “ตัวเปิด” นโยบายประชานิยมของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
นโยบายสำคัญที่จะมาเป็นแรงส่งสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เป็นนโยบายรัฐบาลที่ “ทักษิณ” ฟังจาก “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 บุตรสาว และจะได้รับการ “ขับเคลื่อน” ต่อทันที
เพราะในวันที่ 19 พฤศจิกายน รัฐบาลจะมีการประชุมนัดสำคัญ ภายใต้ชื่อคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี แพทองธาร นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
นโยบายที่ “ทักษิณ” เปิดบนเวทีมีดังนี้
หนึ่ง นโยบายแจกเงิน 10,000 ให้กับผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี ทักษิณกล่าวว่าเงิน 10,000 ได้แล้ว เดี๋ยวมาอีก ใครอายุเกิน 60 ผมก็เห็นว่าเงิน 10,000 จะมาแล้วพี่น้อง
ต่อมา “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง หัวหอกโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่านดิจิทัลวอลเลต กล่าวถึงเกณฑ์แจก “เงินสด” รอบใหม่ว่า เกณฑ์เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะแจกเงินก้อนเดียวเป็นเงินสด 10,000 บาท จะเริ่มตั้งแต่ 50 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่แจกผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 เมื่อเดือนกันยายน
“ทั้งนี้ จะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่เคยได้รับเงิน 10,000 บาทไปแล้วก่อนหน้านี้ช่วงสิ้นเดือนกันยายน ที่สำคัญจะต้องมีการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านแอป ‘ทางรัฐ’ ไว้แล้วก่อนหน้านี้ ส่วนกลุ่มอายุที่ได้รับกำลังพิจารณาว่าจะเริ่มตั้งแต่ 50 ปี หรือ 60 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม” นายเผ่าภูมิกล่าว
สำหรับการเสนอการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มนี้มีความสามารถในการทำรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งมองว่าการจ่ายเงินก้อนนี้จะมีคนที่ได้รับสิทธิไม่เยอะเหมือนกับเฟสแรก ส่วนจะได้เมื่อไรนั้น ยังต้องรอการประชุม (คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ) สรุปก่อน”
สอง นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทักษิณกล่าวบนเวทีว่า วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องเงินลงทุนทั้งหลาย เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกความเจริญให้พี่น้องประชาชนได้ และขอย้ำอีกทีว่า เรื่องหนี้สินเป็นเรื่องที่อยู่ในหัวใจของนายกฯ อยู่แล้ว มีการเรียกประชุมเป็นประจำเพื่อหาทางที่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องส่งเงินที่ต้องจ่ายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยขอลดเงินที่ต้องส่งให้ ธปท. แล้วเอาเงินส่วนนี้มาปรับโครงสร้างหนี้ประชาชน เพื่อให้ 3 ปีต่อจากนี้ประชาชนไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ให้จ่ายแต่เงินต้น แล้วหลังจากนั้นถ้าจ่ายครบแล้วก็จะมีกระบวนการลบชื่อท่านออกจากเครดิตบูโร ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถกู้หนี้ยืมสินไปใช้ในการทำมาหากินได้
ซึ่งนโยบายดังกล่าว “ทักษิณ” เคยเปิดต่อสาธารณะมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยจะใช้แหล่งเงินจากเงินที่แบงก์นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แบ่งมา 0.23% ใส่ในกองทุนที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อแก้หนี้ตามมาตรการนี้ ซึ่งเมื่อครบ 3 ปีแล้ว เมื่อลูกหนี้ทำได้ครบตามเงื่อนไข แบงก์สามารถมาเคลมเงินตรงนี้ไปได้ตามจำนวนลูกหนี้ที่ทำตามเงื่อนไขได้
“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการลดเงินนำส่ง FIDF นั้น ถือเป็นรายละเอียดใหญ่ ๆ ที่มองว่า หากเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนก็ต้องทำ ไม่อยากให้พูดว่าการดำเนินการในส่วนนี้เป็นการแฮร์คัตหนี้ เพราะไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้เงื่อนไขการพูดคุยที่ลงตัวระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้มากกว่า
นโยบายที่สาม “ทักษิณ” กล่าวว่าทุกครอบครัวถ้ามีงานทำต้องมีบ้านอยู่ได้ทุกคน ฉะนั้น จะต้องสร้างบ้านให้คนไทยอยู่ทุกคน ใครอยากมีบ้านก็ได้บ้านไม่ต้องดาวน์ ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและเห็นได้ในรัฐบาลนี้
ซึ่งมีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ จะมีวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วย
นโยบายที่สี่ ทักษิณกล่าวว่า ถ้าเราทำเศรษฐกิจให้ดี ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และ 700 บาท ปรับเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท ในโอกาสต่อไป
แม้ว่ากระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้ “พรรคภูมิใจไทย” แต่ทันทีที่ “ทักษิณ” การันตีเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น ปรากฏว่ามีรายงานจากกระทรวงแรงงานว่า กระทรวงแรงงานพร้อมผลักดันการปรับขึ้น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่มีข้อยกเว้นสำหรับ SMEs รายเล็ก เพื่อให้มีเวลาปรับตัว
โดยจะมีกระทรวงแรงงานจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน เพื่อเร่งให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2568
จับตา 19 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลเดินหน้าประชานิยมเต็มสูบ ปลดล็อกกับดักเศรษฐกิจ ก่อนจะแถลงผลงาน 3 เดือน 12 ธันวาคมนี้