ชีวิตล้มลุก จากพ่อค้าน้ำมัน PT สู่เก้าอี้รัฐมนตรี

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย : วิรวินท์ ศรีโหมด

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นั่งอยู่ที่ล็อบบี้ พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PT บริษัทน้ำมันที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 35 ปีก่อน

แม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่วันวานของพิพัฒน์ ยังแจ่มชัด ภาพที่ตัวเองเดินอยู่ในตลาดกิมหยง ออกเดินทางไปทำประมงที่ประเทศบรูไน หยุดเรียนมหา’ลัย เพราะสถานการณ์การเมือง วิกฤตต้มยำกุ้งที่ทำให้บริษัทเกือบล้มละลาย การก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีในปัจจุบัน

ต่อไปนี้คือเส้นทางชีวิตชายวัย 69 กะรัต ที่ยึดถือแนวคิดที่ว่า “ผมไม่มีคำว่ายอมแพ้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องสู้”

โตในตลาด

“การเติบโตในตลาด ทำให้เข้าใจชีวิตคนใช้แรงงานตั้งแต่ระดับล่าง ถึงเศรษฐีที่มาซื้อของ ฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยมองข้ามสิ่งที่อยู่ล่างสุด เพราะทุกคนจะแสวงหาโอกาส เขามีโอกาสเมื่อไหร่จะเติบโตขึ้นทันที” อดีตนักธุรกิจหมื่นล้าน เริ่มต้นด้วยการสะท้อนคำว่า โอกาสของผู้ใช้แรงงาน

อดีต ด.ช.พิพัฒน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 ในโรงพยาบาลอำเภอหาดใหญ่ ด้วยความเป็นเมืองการค้าทางชายแดนภาคใต้ ทำให้เติบโตมาในครอบครัวลูกแม่ค้า ตั้งแต่จำความได้ต้องคอยช่วยแม่ขายสินค้าที่รับมาจากในประเทศและนำเข้าจากมาเลเซีย ขายให้แก่ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวผู้ไปเยือน

เรียนอนุบาลโรงเรียนในเครือคริสตัง ประถมศึกษา “แสงทองวิทยา” จบ ม.ศ.3 ย้ายมาศึกษาที่มักกะสันพิทยา กรุงเทพฯ ต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยปัญหาเหตุบ้านการเมืองปี 2519 ทำให้เด็กสงขลาจมูกคมเรียนไม่จบ ต้องกลับบ้านไปช่วยแม่ค้าขายอยู่ 3 ปี (ช่วงปี 2519-2521) ก่อนตัดสินใจย้ายไปอยู่กับพ่อ ที่ขณะนั้นกำลังบุกเบิกธุรกิจซื้อที่ดินทำเกษตรกรรม ทำประมงเลี้ยงกุ้ง หอยแครง ที่จังหวัดสตูล จึงทำให้พิพัฒน์มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจโดยเฉพาะการค้าชายแดนเพิ่มเติม

ADVERTISMENT

ย่างเข้าปี 2528 ชีวิตพิพัฒน์พลิกผันครั้งใหญ่ ด้วยความทะเยอะทะยานไปแสวงหาโอกาสขุดทองต่างแดน บินไปหาลู่จากความถนัดด้านประมงที่ประเทศบรูไน ก่อนจะล้มเหลวไม่เป็นท่าหลังผ่านไปราวปีเศษ จากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เข้มงวด สุดท้ายต้องกลับมามาตุภูมิ

ADVERTISMENT

ภาคใต้เชื้อเพลิง” จุดเริ่มต้น ปั๊ม PT”

หลังจากกลับมาเมืองไทย โอกาสมั่งคั่งของพิพัฒน์มาถึง เมื่อพรรคพวกชวนร่วมทุนทำธุรกิจค้าน้ำมัน โมเดลไม่ยากไม่ง่าย ซื้อมาขายไป นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งขายให้เรือประมงทางภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ชุมพรและ จ.ระนอง

ปี 2531 โอกาสสำคัญมาอีกครั้ง เมื่อพรรคพวกชวนร่วมขยายกิจการน้ำมันให้ใหญ่และกว้างขึ้น ขอใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 และก่อตั้งบริษัทชื่อ ภาคใต้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จํากัด (มหาชน) หรือ PT ในปัจจุบัน

9 ปีแรกผลประกอบการสวยงาม ทิศทางเติบโต จนเข้าปี 2540 คิดการใหญ่ หวังนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจมาเยือน 1 ก.ค. 2540 ต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลอยตัว หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกล้มละลาย เศรษฐีกลายเป็นคนจน “ภาคใต้เชื้อเพลิง” ที่เคยมีเงินทุนหมุนเวียนนับพันล้าน กลายสภาพเป็นบริษัทที่มีหนี้สินกว่า 3 พันล้านบาท

“วันนั้นตื่นเช้าขึ้นมาช็อกมาก ไม่คิดว่าธุรกิจที่กำลังปูมาอย่างสวยหรู เตรียมตัวนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสะดุดล้ม เพราะการประกาศค่าเงินลอยตัวของรัฐบาลยุคนั้น” พิพัฒน์ย้อนอดีตช่วงเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่อยากจะลืม

“ตอนนั้นไม่อยากทำอะไรเลย แต่สุดท้ายเมื่อตั้งสติได้ มองไปข้างหน้ายังมีลูกน้อง เพื่อนร่วมธุรกิจ คิดว่าเรายอมแพ้ไม่ได้ ต้องสู้ ไม่สู้ ไม่ช่วยเพื่อนที่เคยร่วมธุรกิจปล่อยให้เขาบาดเจ็บล้มตาย ก็หมายความว่ายอมแพ้ เพราะฉะนั้นไม่ยอม ลุกขึ้นทำธุรกิจต่อไปพร้อมกับหาเงินใช้หนี้คู่ค้า”

ชีวิตคือการต่อสู้ ล้มได้ลุกให้เร็ว

ภายหลังได้สติ ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนแปลงองค์กร ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ พิพัฒน์ตัดสินใจลาออกและส่งต่อธุรกิจให้กับน้องชาย พิทักษ์ รัชกิจประการ นำทัพองค์กรต่อจนถึงปัจจุบัน

ปี 2567 PT มีสถานีบริการน้ำมันประมาณ 2,300 สาขา ส่วนแบ่งการตลาดผู้ค้าน้ำมันในประเทศ 22% เป็นบริษัทผู้ค่าน้ำมันอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากพี่ใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และอันดับ 2 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อดีตผู้บริหารพีที เผยความคิดที่ไม่ย่อท้อโชคชะตา ว่าทุกคนล้มได้ แต่ล้มแล้วต้องลุกให้ได้ในวันต่อไป ไม่ควรล้มแล้วหมดอาลัยตายอยากหรือยอมแพ้ชีวิต ชีวิตคนเราลมหายใจคือการต่อสู้ หากปล่อยให้ไฟมอดแล้วค่อยมาลุกทีหลัง เมื่อนั้นพลังการต่อสู้ก็ไม่เหลือ

ผมเป็นคนที่ล้มลุก ล้มลุก ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เราไม่มีคำว่ายอมแพ้ หรือท้อแท้ในหัวใจ ยอมแพ้ไม่ได้ เพราะมีภาระอยู่ข้างหลัง (ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลก) ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องสู้”

ส่วนหลักคิดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ อดีตนักธุรกิจพลังงานหมื่นล้าน ยึดคติพจน์โบราณหนึ่งที่จำขึ้นใจ “ต้นไม้ล้มคุณข้ามได้ แต่คนล้มคุณอย่าข้าม เพราะวันนี้คุณอาจเห็นคนหรือเพื่อนล้มต่อหน้า แต่จะรู้ได้อย่างไรพรุ่งนี้เขาจะไม่ลุกขึ้นมาใหม่”

2 อาชีพเป้าหมายที่แตกต่าง กำไร กับชีวิตประชาชน

พิพัฒน์บอกว่าเป้าหมายของ “ธุรกิจ” และ “การเมือง” นั้นแตกต่างกัน อย่างแรกมีเป้าหมายที่ผลกำไร ขาดทุนไม่ได้ ขณะที่อย่างหลังมีเป้าหมายเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งการบริหารและการทำงานเต็มไปด้วยข้อจำกัดทั้งในเชิงกฎหมาย ระบบราชการ และสถานการณ์การเมือง

ในบทบาท รมว.แรงงาน เขาวางเป้าหมาย “ทำให้กระทรวงทางสังคม กลายเป็นกระทรวงเศรษฐกิจให้ได้” เนื่องจากต้องดูแลสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานกว่า 40 ล้านคนหรือ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรไทย

นักการเมืองกับนักธุรกิจ ไม่เหมือนกัน นักธุรกิจต้องชนะสถานเดียว เสมอตัวแพ้ไม่ได้ นักการเมืองบาลานซ์ได้ก็เก่งแล้ว ไม่ต้องถึงขาดทุน” พิพัฒน์นิยามสั้น ๆ ถึงอาชีพรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง “บริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้ดีที่สุด”

หนีตายปี’97 ปฏิรูป “ประกันสังคม”

ภารกิจใหญ่และสำคัญมากของพิพิฒน์ คือ การปฏิรูประบบประกันสังคม (สปส.) ซึ่งถือครองกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

ปัจจุบันกองทุนมีเงิน 2.5 ล้านล้านบาท สร้างดอกผลจากการลงทุนเพียงแค่ 2.3-2.4% ต่อปี

จากการคาดการณ์กระทรวงแรงงานและนักเศรษฐศาสตร์ หากไม่พัฒนาอีก 30 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2597 กองทุนจะถึงเวลาล่มสลาย เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ สวนทางกับจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ลดลงมาตลอด กระทบกับเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคม

หน้าที่ของพิพัฒน์ก็คือ การทำให้กองทุนได้ผลตอบแทนมากขึ้น จากการลงทุน โดยมีการปรับระบบการลงทุน เลือกใส่เงินในสิ่งที่ให้อัตราผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 5% รวมถึงปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และไม่เสี่ยง เพื่อให้ได้ดอกผลมากกว่าที่เป็น

“วันนี้ระบบราชการต้องทันกับยุคเศรษฐกิจ หากยังเดินในระบบราชการทั้งหมด ปรับตัวไม่ทัน ทำงานเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เงินกองทุนประกันสังคมจะมากสุดในปี 2585 อยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท แต่จะลดลงเรื่อย ๆ และจะเหลือ 0 บาทในปี 2597 หากไม่มีมาตรการปรับเปลี่ยน”

เราต้องประคับประคองให้นักลงทุนอยู่ได้ ให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครมาเติมเงินเข้าประกันสังคม แรงงานก็จะไม่มีงานให้ทำ สุดท้ายประกันสังคมล่มสลาย”