มนพร : ลากรัฐบาลผสม 4 ปี เคลียร์ใจพรรคร่วม ไม่มีใครอยากเลือกตั้งไว

มนพร เจริญศรี
มนพร เจริญศรี
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล ครอบครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

แต่ทว่า พรรคเพื่อไทย ในยุคนี้ไม่ได้มีเสียงในสภาข้างมากเด็ดขาด เป็นภูมิคุ้มกันทางการเมือง เพราะมีเพียง 142 เสียง จึงต้องอาศัยจำนวนมือทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม แต่อีกด้านหนึ่ง เธอเป็น “ตัวแม่” ในการขับเคลื่อนฝ่ายนิติบัญญัติพรรคเพื่อไทย ถึงการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่บางครั้งเกิดภาพชักเย่อกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

ประชาชนคือภูมิคุ้มกัน

มนพร ตอบคำถามเรื่องจะแก้โจทย์เรื่อง “ภูมิคุ้มกันต่ำ” ในการเป็นรัฐบาลผสม สำหรับการขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของรัฐบาลอย่างไรว่า การเป็นรัฐบาลผสม อาจทำให้การทำโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ จึงเป็นเรื่องยาก

แต่ต้องดูว่านโยบายรัฐบาลเป็นประโยชน์ไหม ถ้าเป็นประโยชน์ก็ไม่ใช่มีแต่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะฝ่ายค้านก็เห็นด้วยกับรัฐบาล เช่น ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ฝ่ายค้านก็เอาด้วยเพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน

ภูมิคุ้มกันก็อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเรื่องความโปร่งใส ถ้ารัฐบาลไม่มีข้อทุจริตแต่ละโปรเจ็กต์ ไม่มี Hidden Agenda แล้วเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้เอาเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ ของพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือนโยบายพรรคนั้นทำ พรรคนี้ไม่ทำ

ADVERTISMENT

แม้การหลอมรวมของพรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรคมีนโยบายของตัวเอง แต่นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาโดยนายกรัฐมนตรีสำคัญที่สุด เพราะเป็นนโยบายที่หัวหน้าพรรคทุกพรรคเห็นชอบ และมาจากฉันทามติของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเขียนนโยบายพรรคเดียว

“ก็จะเห็นว่ามีการพูดคุยกับนายกฯ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่แปลกใจอะไร แต่เราคิดว่าโครงการไหนที่เป็นประโยชน์ พรรคร่วมรัฐบาลก็มีข้อโต้แย้งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะแม้แต่พรรคเดียวกันก็ยังไม่เห็นเหมือนกันหมดเลย”

ADVERTISMENT

เสียงเยอะ ต้องคิดโปรเจ็กต์ใหญ่

นโยบายเรือธงที่ต้องอาศัยการออกกฎหมาย และจำเป็นต้องมีเสียงในสภาอย่าง Entertainment Complex ถือว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวหรือไม่ “มนพร” แย้งว่าไม่ใช่เป็นพรรคเพื่อไทยเจ้าเดียว เราเห็นว่าการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจะมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ ทั้งการเปิดฟรีวีซ่า การพัฒนาออกโปรเจ็กต์การท่องเที่ยวคนละครึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด แต่นโยบาย Entertainment Complex อาจเพราะว่าพรรคเพื่อไทย มีมิติของเศรษฐกิจ การลงทุน อาจจะดีกว่าพรรคอื่นด้วยซ้ำ

“พอมีมิติแบบนี้ก็ไม่แปลกใจเพราะพรรคเพื่อไทยมีเสียง สส.มีที่นั่งมากที่สุดในฝ่ายรัฐบาล และนายกฯมาจากเขา เขาต้องคิดโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ”

“ถ้าวันหนึ่งพรรคภูมิใจไทยได้เป็นนายกฯ เขาอาจจะคิดนโยบายเรื่องกัญชา ซึ่งเป็นนโยบายหลักของเขา..ไม่แปลก ไม่แตกต่างกัน”

“ทุกโครงการมีคำตอบว่าเราทำเพื่อพี่น้องประชาชน รัฐบาลเองก็ต้องมีการสื่อสารที่กว้างขึ้น และประโยชน์ของประชาชนจะได้อะไร มันไม่ใช่ประโยชน์ของรัฐมนตรี หรือของรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ทุกนโยบายมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เราก็ต้องแก้ไขในส่วนที่ประชาชนไม่เห็นด้วย เพื่อปิดจุดช่องโหว่ตรงนั้นเสีย”

เกมต่อรองจบตั้งแต่ตั้งรัฐบาล

แต่ขณะนี้มีประเด็นเรื่องที่ดิน “เขากระโดง” เป็นการดึงเกมครั้งสำคัญระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย “มนพร” ชี้แจงว่า เรื่องเขากระโดงไม่ได้เกิดขึ้นมาที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่เกิดมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านแล้ว ตอนนั้นท่านทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (รมว.ยุติธรรม ปัจจุบัน) หยิบประเด็นนี้ขึ้นมา และประเด็นนี้ไปถึงศาลซึ่งศาลก็ตัดสินแล้ว

แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ท่านสุริยะ (จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม) ให้สัมภาษณ์ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ต้องรักษาที่ดินที่เขาเชื่อว่าเป็นที่ดินของเขา ส่วนกรมที่ดิน ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทย จะให้ความเห็นอย่างไรก็เป็นการต่อสู้ทางกฎหมาย แต่สัมพันธภาพของพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังคงอยู่

เหตุการณ์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อถึงวันเลือกตั้งประชาชนก็จะเป็นผู้ตัดสินเอง ประชาชนจะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองไหน

ส่วนสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ชักเย่อกัน บางทีมิตินี้คนก็อาจจะคิดเอาเอง เพราะท่านสุริยะจะไปมีอำนาจอะไร หรือ นายกฯแพทองธาร จะมีอำนาจอะไร…ไม่มี แต่ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าคิดว่าเป็นของคุณก็ไปต่อสู้ในกระบวนการศาล ถ้าต่อสู้แล้วว่าเป็นของหลวง ก็ต้องกลับมาเป็นของหลวงวันยังค่ำ

ส่วนใครคิกออฟขึ้นมาก่อน “มนพร” ชี้แจงว่า เห็นว่าพอศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน อธิบดีกรมที่ดินจะต้องจัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยเพิกถอนโฉนด แต่พออธิบดีกรมที่ดินคนใหม่เข้ามาไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน ซึ่งเป็นคณะกรรมการเป็นหน่วยงานทางปกครอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป หากศาลมีคำพิพากษาตัดสินแล้ว กรมต่าง ๆ ก็ตั้งคณะกรรมการมาโต้แย้งคำสั่งศาลได้หมด ก็จะเป็นการตั้งคณะกรรมการมาโต้แย้งคำสั่งศาลได้หมด จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของคำตัดสินของศาลหรือเปล่า

ถามว่าถ้าอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเกมการต่อรอง จะอธิบายอย่างไร มนพรกล่าวว่า เรื่องการต่อรองจะไปต่อรองเพื่ออะไร เพราะวันนี้เราเป็นรัฐบาลแล้ว ได้เป็นนายกฯแล้ว จะไปต่อรองเพื่ออะไร การต่อรองควรเกิดขึ้นก่อนการตั้งรัฐบาล

“ถ้าจะต่อรองเรื่องต่าง ๆ เรื่องกฎหมายในสภา หรือมือของ สว.ที่เป็น สีน้ำเงินนั้น..ไม่ใช่ เพราะเราคิดว่า สิ่งไหนที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยก็ไปตอบประชาชนเองว่าทำไมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทำไมถึงไม่เอาเสียงข้างมากชั้นเดียว แต่ในส่วนพรรคเพื่อไทยก็ยืนหลักการต้องใช้กุญแจประชามติ นำมาซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ตอบได้”

ปัญหาเศรษฐกิจ เสี่ยงกว่าพรรคร่วม

เมื่อรัฐบาลข้ามขั้วมีทั้งมิตรและศัตรู บริหารความสัมพันธ์อย่างไรให้อยู่ครบเทอม มนพรตอบว่า การบริหารความสัมพันธ์ บางครั้งต้องยอมรับความต่าง คือ นโยบาย เพราะเราเป็นรัฐบาลผสม แต่พรรคภูมิใจไทยเวลาเขาโหวต เขามีวินัย พรรคร่วมรัฐบาลพรรคเล็กก็โหวตให้ ดังนั้น ตัวของ สส.ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติก็ต้องยืนตัวตรงในการทำกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับประชาชน

แล้วอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง มนพรกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงคือเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ทำเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ได้ เดี๋ยวประชาชนก็ลุกฮือ จึงไม่คิดเรื่องปัจจัยพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่มีใครอยากเลือกตั้ง

ผิดใจอย่างไรก็เคลียร์กัน ลากยาวให้ครบ 4 ปี ถึงเวลานั้นก็สู้กันใหม่ เพราะวันนี้ยังไม่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่ถ้าวันนี้รัฐบาลทำไม่ดี มีทุจริต ประชาชนอดอยากปากแห้ง ยาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง ประชาชนก็ลุกฮือ

แก้ปมทักษิณครอบงำ

พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับคำร้องยุบพรรคมากแค่ไหน “มนพร” กล่าวว่า ให้ความสำคัญทุกข้อร้องเรียน ไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญ สิ่งที่เขาร้องเราก็ต้องตระหนักและแก้จุดที่เขาร้อง แต่เราก็ต้องมาดูข้อกฎหมาย เพราะตอนนี้เมืองไทยมีนักร้องเยอะ

เราจะไปบอกว่าทักษิณครอบงำไม่ได้เพราะเขาคือพ่อนายกฯ ลูกไม่ถามพ่อได้ไง พ่อเขาก็เป็นอดีตนายกฯ ทำนโยบายที่ประสบความสำเร็จ เป็นลูกเขาก็ต้องถามพ่อ จะมาบอกว่าท่านทักษิณมาครอบงำไม่ได้

ในมิติของพรรคจะไปครอบงำก็ต้องมีองค์ประกอบ คณะกรรมการบริหารพรรคต้องเห็นชอบ อย่างก่อนหน้านี้รัฐบาลล้ม มีข่าวว่าท่านทักษิณ จะให้เอาท่านชัยเกษม นิติสิริ สุดท้ายพรรคเพื่อไทยไม่เอาท่านชัยเกษม เพราะความเห็นของ สส.และกรรมการบริหารพรรคว่า ไม่เอาท่านชัยเกษม เราจะเสนอท่านแพทองธาร ดังนั้น ท่านทักษิณไม่ได้ครอบงำพรรค และเราไม่ได้ฟังทุกเรื่อง

ความสัมพันธ์เพื่อไทย-ทักษิณ

“ท่านทักษิณ เหมือนเป็นพระประธาน เป็นเทวดาของพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรค บางคนเป็น สส.ไทยรักไทย มาจนถึงรุ่นลูก และท่านทักษิณเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรค บางคนเป็น สส.ไทยรักไทย ตั้งแต่รุ่นพ่อมาถึงรุ่นลูก พรรคเพื่อไทย เขาก็ยังดูแล เหมือนลูกเขาคนหนึ่ง ความสัมพันธ์กับพรรคอื่นไม่มีแบบนี้”