คอลัมน์ : Politics policy people forum
ปมที่ดินเขากระโดงระหว่างกระทรวงมหาดไทย ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย สวมหมวก มท.1 กับกระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม สวมบทราชรถ 1
เหตุเกิดปลายเดือนตุลาคม เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแต่งตั้งตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ
ให้สำนักงานที่ดินบุรีรัมย์ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก ร.ฟ.ท. ร่วมกันลงพื้นที่ชี้แนวเขตและรังวัดที่ดินบริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่ จากนั้นส่งข้อมูลให้คณะกรรมการสอบสวนชุดดังกล่าวพิจารณา
แต่ปรากฏว่ามติของที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวน กลับมีมติเอกฉันท์เมื่อ 22 ตุลาคม ไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ร.ฟ.ท. พร้อมกับส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.
นับแต่นั้นปมที่ดินเขากระโดงก็ถูกจับตามองว่าเป็นประเด็นการเมือง ภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
เพราะกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงคนละมุมอยู่หลายครั้ง
“สุริยะ” เจ้ากระทรวงคมนาคมออกมายืนยันเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ ร.ฟ.ท.ตามคำตัดสินของศาล
“ที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท. เมื่ออธิบดีกรมที่ดินวินิจฉัยต่างออกมา ร.ฟ.ท.ก็ทำหนังสือไปโต้แย้ง และดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร”
ขณะที่ “อนุทิน” กล่าวอีกมุมหนึ่งในวันเดียวกัน แต่คนละห้วงเวลาว่า กรมที่ดินกำลังปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง ซึ่งกรมที่ดินระบุว่า ร.ฟ.ท.ยังพิสูจน์สิทธิไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ ร.ฟ.ท.อุทธรณ์ถือว่าถูกแล้ว
ปมที่ดินเขากระโดง อาจกลายเป็นเกมชักเย่อในพรรคร่วมรัฐบาล ก็เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเสียงข้างมากเด็ดขาด
ไม่เหมือนยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่มีเสียงมากถึง 377 เสียง เมื่อปี 2548
หรือยุคพรรคเพื่อไทย ที่มีนายกฯชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กุมเสียงข้างมาก 265 เสียง นำรัฐบาลผสม 300 เสียง
นาทีนี้พรรคเพื่อไทยมีเพียง 142 เสียงในสภา จึงต้องใช้บริการรัฐบาลผสมแบบ “ข้ามขั้ว”
หากเรียงตัวเลขพรรคการเมืองขั้วรัฐบาล พรรคใหญ่ที่สุดคือพรรคเพื่อไทย แต่พรรคที่รองลงมาคือพรรคภูมิใจไทย 70 ที่นั่ง ยังว่ากันว่ายังมีบริการเสริมของ สว.สายสีน้ำเงินที่มีไม่ต่ำกว่า 140-160 เสียงในบางจังหวะ
พรรคภูมิใจไทยจึงถือดุลอำนาจใน 2 สภากว่า 210-230 เสียง
ดังนั้น จึงเห็นเกมการ “ต่อรอง” ระหว่างพรรคเบอร์หนึ่ง กับพรรคเบอร์ 2 ในรัฐบาล
เพราะนอกจากปมที่ดินเขากระโดงแล้ว เกมชักเย่อในรัฐบาลยังเกิดขึ้นอีกหลายหน ตัวอย่างเช่น กระบวนการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะนำมาใช้ทำประชามติกับการแก้รัฐธรรมนูญ
แต่วุฒิสภาปฏิบัติการสายฟ้าแลบ เปลี่ยนระบบการชี้ขาดประชามติจากเสียงข้างมากชั้นเดียว ซึ่งผ่านที่ประชุมของ สส. มาเป็นระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น
พรรคภูมิใจไทยหนุนหลัง สว.เต็มขั้น โดยทั้ง สส. และ สว.ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 2 ฝ่ายขึ้นมา เพื่อพิจารณาหาทางออกร่วมกัน
แต่ปรากฏว่ามติที่ประชุม กมธ.มีเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 เสียง ยืนตาม สว.ที่ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น โดย 2 เสียงของพรรคภูมิใจไทยนั้นใช้สิทธิ “งดออกเสียง” ส่อเค้าลากยาว 8 เดือน
ยังรวมถึงโปรเจ็กต์ยักษ์ของรัฐบาลที่ต้องอาศัยกฎหมาย ก็เกือบจะกลายเป็นเกมชักเย่อ อย่าง Entertainment Complex ที่พรรคภูมิใจไทยเคยตั้งโต๊ะคัดค้าน 4 ประเด็น ก่อนจะกลับลำว่าเห็นด้วย หลังจากนโยบายการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ นโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย บรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาล
การขับเคี่ยวในสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ที่พรรคเพื่อไทยต้องใช้ตัวจริงเสียงจริง “ทักษิณ ชินวัตร” มาเป็นผู้ช่วยหาเสียง
ตรึงบ้านใหญ่ให้อยู่กับพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ย้ายฝั่ง
เปิดสภา 12 ธันวาคม เกมชักเย่อในทั้งใน-นอกสภา ยังมีอีกหลายยกแน่นอน