“สุเทพ” รวมพลังพสกนิกร ปกป้องสถาบัน-ข้อต่อพลิกเกมเลือกตั้ง

“วันนี้ขอประกาศว่า ผมไม่ได้เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนี้ แต่ผมคือคนที่ยืนอยู่เคียงข้างกับพี่น้องประชาชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน…ผมขออาสาเป็นขี้ข้าของประชาชน”

คำประกาศกลับลำ-หวนคืนการเมืองอีกครั้งของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

นอกจากนายสุเทพ- ศ.พิเศษ ดร.เอนกเหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน-นักวิชาการรัฐศาสตร์ เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เปิดหน้า-เปิดตัวชัดเจนว่าเป็น “ผู้ก่อตั้ง-แถวหน้า”

พรรค รปช. กองหนุน-แนวร่วม รปช.

เบื้องหลัง-แนวร่วมสนับสนุน ยังมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในวันนั้น มาในฐานะประธานที่ประชุมเปิดตัวพรรค รปช. นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต-อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา

นายสาธิต- “น้องดีน่า” น.ส.นันทินี เซกาล นักธุรกิจอินเดีย-เชื้อสายปากีสถาน ที่ “ศ.พิเศษ ดร.เอนก” ใส่ชื่อ “น้องดีน่า” เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้ง “ทีมโฆษก” อย่าง น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆและนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์

“สุเทพ” เปิดเบื้องหลังจุดเริ่มต้นการก่อตัว-ก่อกำเนิดพรรค รปช. ว่า ตลอด 4 ปีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดครองอำนาจ เขาได้ใช้เวลาครุ่นคิด-พูดคุยกับคนในเมือง-ชนบท หลากหลายชนชั้น-อาชีพ ทั้งเกษตรกร พ่อค้า-นักธุรกิจ ทนายความ อดีตข้าราชการตำรวจ ทหารพลเรือน ข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่และอดีตอัยการ

เบื้องหลัง “คุณชายเต่า” ร่วม รปช. 

“หลายคนไม่เคยต้องการเข้าสู่การเมือง หม่อมเต่าเนี่ยแหละครับเป็นประธานที่ปากหนักที่สุด เป็นคุณชายหัวก้าวหน้า เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบนักการเมือง ไม่อยากยุ่งกับการเมือง เดินมาหาผมขอร่วมตั้งพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นในประเทศนี้ด้วยคน”

นอกจากแนวร่วมอุดมการณ์เดียวกันและพร้อมที่จะสานต่อปณิธานการเมืองของมวลมหาประชาชน-กปปส.และภารกิจใหม่ คือ การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 60 แล้ว ยังมีพี่-น้องที่ร่วมชะตากรรมการเมือง-ร่วมท้องเทือกสุบรรณอย่าง “เชน-ธานี” ที่ “สุเทพ” บอกว่า ไม่ต้องดูด-มันมาเอง-ไล่มันก็ไม่ไป

“ได้โปรดเป็นพยานว่าสิ่งที่เราไม่เคยคิดสิ่งที่เราไม่เคยเห็น วันนี้จะได้เห็น คนอย่างนี้หน้าตาอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่พรรครปช.เราไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าคนเหล่านี้บนเวทีการเมือง”

ยกครัว “เหล่าธรรมทัศน์” 

สอดรับกับ “ศ.พิเศษ ดร.เอนก” หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค รปช.ที่ยกกันมาทั้งครอบครัว “เหล่าธรรมทัศน์” ทั้ง “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์” ที่สวบบทโฆษกบนเวที-โฆษกพรรค และ “หลังบ้าน” อย่าง “ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์” ที่นั่ง “เคียงคู่” กับ “ศ.พิเศษ ดร.เอนก” ไม่ห่าง

“การทำพรรค รปช.ครั้งนี้ ส่วนตัวของผมทำสุดชีวิตจิตใจ หลานผมก็มาช่วยเขา ลูกผมก็มาช่วยเขา ผมตามหาลูก หาหลานว่าเขาหายไปไหน ก็ไปพบว่าไปอยู่กับคนพวกนี้แหละ แล้วมันก็พยายามชวนพ่อ ชวนอามาช่วย ผมก็ไปปรึกษาภรรยาผม (ศ.พญ.จิรพร)”

รวมรุ่นคนตุลาฯ-พธม.-กปปส.

“การได้มาทำพรรคครั้งนี้เพราะผมได้ไปพบกับผู้ก่อตั้งเป็น 10 เป็น 100 คน หลายเดือนมาแล้ว หลายคนต่อสู้มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ฯ 16, ตุลา ฯ 19หลายคนต่อสู้ในเหตุการณ์ ปี”35 ต่อสู้ตั้งแต่ปี”48-49 จนกระทั่งถึงปี”56”

“เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญ มวลมหาประชาชนเป็นแสน เป็นล้านจะเข้ามาทำการเมืองเพื่อชาติ การเมืองเพื่อศาสนา การเมืองเพื่อพระมหากษัตริย์ การเมืองเพื่อประชาชน และจะปกป้องสิ่งที่บรรพชนได้ทำไว้ไม่ให้ใครมากวาดทิ้งไปได้”

“เราจะต้องเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ที่บ้านเมืองจะหยิบมาใช้ตอนไหนก็ได้ ต่อไปเราจะไม่เพียงออกไปหลั่งเลือดบนท้องถนนแต่จะออกมาทำพรรคให้เกิดขึ้นให้ได้เพราะเป็นภารกิจ”

รธน. 60 ซ้ำรอยการเมืองนอกสภา 

“รศ.สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยอมรับว่า เปิดตัวได้ประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ขณะที่ผู้ก่อตั้ง-สนับสนุนที่ออกมาเปิดหน้า-เปิดตัว ซึ่งนายสุเทพบอกว่าเป็นไปได้ยากที่จะเห็นคนเหล่านี้บนเวทีการเมือง

“รศ.สุขุม” มองว่า “เป็นคนเก่าที่อยากลงเล่นการเมือง อยากทำการเมือง เหมือนกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เช่น อาจารย์เอนกก็คนเก่า คุณสุเทพก็เหมือนกัน อาจจะมีคนที่ไม่เคยเล่นการเมืองเข้ามาก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะพรรคการเมืองอื่นเขาก็มีหน้าใหม่เข้ามา ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็จะมีคนใหม่เข้ามาทุกครั้ง จึงไม่แปลกที่หม่อมเต่าจะลงมาเล่นการเมือง”

“ก็เหมือนกับทุกพรรคการเมืองที่ต้องประกาศอุดมการณ์ของพรรคแล้วถึงหาคนมาร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้กอดคอจากข้างล่างแล้วขึ้นมาหายอด ซึ่งอุดมการณ์ของพรรคที่ประกาศออกมาก็เป็นไปตามสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

“การประกาศปกป้องสถาบันเป็นเพียงตัวอักษรแต่ไม่รู้ว่าบทบาทข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หรือการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 60 แล้วถ้าคนอื่นแก้จะขวางหรือไม่ ซึ่งถ้าขวางการเมืองก็จะกลับสู่แบบเดิม คือ ออกมาเล่นการเมืองกันข้างนอกอีก”

เพิ่มพท.สภา-ลดการเมืองบนถนน 

“ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พรรค รปช.คนที่จะชอบอันดับแรก คือ 1.คนที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.ไม่น้อย 2.อดีตพันธมิตร ฯ 3.คนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ฯ 16 เหตุการณ์ 6 ตุลา ฯ 19 พฤษภา ฯ 35 และ นักวิชาการรุ่นใหม่ เช่น รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร

“คนที่ร่วมก่อตั้งพรรครปช.ก็มีทั้งคนที่เคลื่อนไหวในเหตุการณ์ ตุลาฯ 16ตุลาฯ 19พฤษภาฯ 35 ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าเป็นพรรคของคนชั้นกลางระดับบน”

“ความชัดเจนของพรรคนี้ คือ ต่อต้านระบอบทักษิณ แต่จะบอกว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม เป็นพรรคชาตินิยมก็ไม่ได้และจะบอกว่าเป็นพรรคก้าวหน้าก็ไม่ได้เพราะเป็นพรรคมีความหลากหลาย”

ส่วนการที่กปปส.มาตั้งพรรคการเมืองจะแก้ปัญหาการเล่นการเมืองนอกสภาได้หรือไม่ นั้น “รศ.ดร.ไชยันต์” กล่าวว่า ถ้าไปในอยู่ในพื้นที่การเมืองในสภาแล้ว รู้จักวางขอบเขต-บทบาทในฐานะตัวแทนประชาชนในสภาแล้ว ไม่ควรเล่นการเมืองนอกสภา ไม่เล่นการเมืองบนท้องถนนเพราะจะทำให้พรรคการเมืองลงมาเล่นการเมืองบนท้องถนนกันทั้งหมดและกลับเข้าวังวนเดิม ควรใช้พื้นที่ในสภาให้ถึงที่สุด-ลดการเมืองนอกสภา

“พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตระบัดสัตย์และเป็นนายก ฯ คุณสุเทพถือว่าตระบัดสัตย์เหมือนกันแต่สมัย พล.อ.สุจินดาตระบัดสัตย์แต่เป็นนายก ฯ แต่คุณสุเทพตระบัดสัตย์แต่ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้ดูต่อไปว่า ขอตระบัดสัตย์เพื่อเป็นขี้ข้าประชาชนโดยไม่รับตำแหน่งใด ๆ เลยจะขอติดตามดู”

เดินสายทั่ว ปท.ชวนร่วม รปช.

การประชุมเปิดตัวพรรค รปช. ที่ประชุมยังมีมติรับรองประธานคณะกรรมการ 5 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการจัดการประชุมสมัชชาพรรค มีมติรับรอง รศ.ดร.จักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการ 2.คณะกรรมการยกร่างธรรมนูญพรรค วินัยและจริยธรรมพรรค ที่ประชุมมีมติรับรอง นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นประธานคณะกรรมการ

3.คณะกรรมการร่างนโยบายพรรคและเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองพรรค ที่ประชุมมีมติรับรอง ศ.พิเศษ ดร.เอนก เป็นประธานคณะกรรมการ 4.คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนพรรค ที่ประชุมมีมติรับรองนายเขตรัฐ เป็นประธานคณะกรรมการ และ 5.คณะกรรมการรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งและสมาชิกพรรค ที่ประชุมมีมติรับรองนายสุเทพ เป็นประธานคณะกรรมการ

โดยหลังจากที่ คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง-รณรงค์ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมพรรคการเมืองได้ นายสุเทพจะ “เดินสาย” ไปหาประชาชนทุกจังหวัด-ทุกภาคของประเทศไทยเพื่อเชื้อเชิญให้มาร่วมพรรค รปช.

หัวหน้า-เลขาฯ พรรค วาระ 2 ปี 

สำหรับโครงสร้างพรรค รปช. ประกอบด้วย 1.คณะผู้บริหารพรรค จำนวน 9 คน มีวาระ 4 ปี แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค มีวาระ 2 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของพรรค ผ่านสมัชชาพรรค2.คณะกรรมการวินัยและจริยธรรมพรรค 3.คณะกรรมการสรรหาผู้เลือกตั้ง 4.คณะกรรมการการบริหารพรรคประจำจังหวัด และ 5.คณะกรรมการบริหารสาขาพรรค

สมัครผู้ร่วมก่อตั้ง-สมาชิก 

พรรค รปช.ได้วางปฏิทินเชิญชวนผู้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค-สมาชิกพรรค ระหว่างวันที่ 3 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2561 ประชุมสมัชชาพรรค วันที่ 2 กันยายน 2561(ประชุมสมาชิกพร้อมกันทั่วประเทศ) เพื่อพิจารณาให้คำรับรองธรรมนูญพรรค (ข้อบังคับพรรค) เลือกคณะผู้บริหารพรรค เลือกคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมพรรค อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองพรรค อนุมัติการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนพรรค เลือกคณะกรรมการสรรหาผู้เลือกตั้ง


จัดตั้งสำนักงานผู้แทนพรรคประจำจังหวัด จัดตั้งสาขาพรรค การเลือกตั้งขั้นต้น เปิดรับสมัครผู้ตั้งใจสมัคร ส.ส. เขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ คณะกรรมการสรรหา ตรวจสอบคุณสมบัติส่งสาขาพรรค/จังหวัด