มติ 177 สนช.ไฟเขียว รับรอง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติ 177 เสียง งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 1 เห็นชอบให้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เป็น พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สนช. อภิปรายว่า 20 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งที่จำเป็น เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตเร็วมาก แต่อัตราการเกิดไม่สมดุลกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก คนไทยไม่ได้ตกงาน แต่ได้อัพเกรดตัวเองไปทำงานในลักษณะเชี่ยวชาญมากขึ้น ทำให้เราขาดแรงงานไร้ฝีมือ ในอดีตแรงงานต่างด้าวเข้ามาผิดกฎหมายหมด จึงทำให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ขึ้นโดยมีนายหน้าทั้งสองฝ่าย อาจจะมีหน่วยราชการบางคนไม่สุจริต แม้จะมี พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่ก็ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะนับวันจำนวนแรงงานต่างด้าวมากขึ้น มีผลกระทบในหลายมิติ ไม่เฉพาะเศรษฐกิจ แต่ยังมีมิติการเมือง การปกครอง และสังคม การปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบต้องมีกฎหมายชัดเจน ทันสมัย โดยอนุบัญญัติ 39 ฉบับ จะเป็นเส้นทางขับเคลื่อนประเทศไทย

“รัฐต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเล็กๆ ในเอสเอ็มอี ภาคเกษตร ภาคก่อสร้าง ภาคบริการ แม่บ้าน ร้านค้า ตลาดสด เพราะคนเหล่านี้รับรู้ได้น้อย อยากให้กระทรวงแรงงานรับฟังแล้วนำมาปรับ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้วย ต้องยอมรับความจริงว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ทำให้เกิดตระหนกตกใจทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะบทลงโทษที่แรงมาก ทำให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ทำให้หยุดการตระหนกได้ แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหา ทราบว่ากระทรวงแรงงานจะออกประกาศกรมจัดหางานออกมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับแรงงานที่ยังอยู่ในไทย บางส่วนถูกกฎหมายแล้วแต่มีปัญหาเรื่องเอกสาร หรือนายจ้าง ทางกรมก็ช่วยคลี่คลายให้ รวมทั้งหาช่องทางทำให้ถูก แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาเพิ่มเติมที่มีอยู่ในระบบ เราไม่ได้กีดกั้นแต่ต้องเข้ามาในลักษณะเอ็มโอยู เชื่อว่าหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายพจน์กล่าว

พล.อ.ดนัย มีชูเวท สนช. อภิปรายว่า ปัญหาแรงงานมีผลต่อเศรษฐกิจ อนุบัญญัติ มีเวลา 4 เดือนที่ต้องทำให้เสร็จ จึงต้องเร่งรัด ประชาสัมพันธ์ แรงงานข้ามชาติ ยังรวมเวียดนาม ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใน จ.จันทบุรี ที่ทำในเรื่องพลอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจสั่งห้ามแรงงานข้ามชาติทำ ในมาตรา 7 ซึ่งที่ผ่านกระทรวงแรงงาน ผ่อนผันการทำงาน โดยกำหนดพื้นที่ เช่น กสิกรรม เกษตร สวนยาง ขนข้าว จึงให้กระทรวงแรงงานพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้การใช้กฎหมายสมบูรณ์

นายสุพันธ์ มงคลสุธี สนช. กล่าวว่า แรงงานถูกกฎหมาย 1.3 ล้านคนอยู่ในอุตสาหกรรมกลาง ใหญ่ที่ไม่มีปัญหา แต่จำนวนมาก ทำงานในเอสเอ็มอีที่จำนวนมากมีแรงงานไม่มาก ขนาดเล็ก บริการ 3 ล้านคน ที่ไม่เข้าใจกฎหมาย ค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาทต่อราย ที่ต้องใช้บริษัทจัดหางาน 90 คน โดยจ้างไม่ต่ำกว่า 300 บาท ดูแลแรงงานอย่างดี พ.ร.ก.กำหนดโทษ อย่าคิดว่าโทษสูงจะทำให้แรงงานเข้าระบบ 4-8 แสนบาท ทำให้การค้ามนุษย์หมดไป เพราะเป็นฐานความผิดคนละฐาน

จากนั้น พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงว่า รัฐบาล คสช.มุ่งมั่นในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงให้รัฐบาลใหม่ ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อปี 2557 และ 2558 ถึง 4 ครั้ง มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องกว่า 4 แสนคน ทั้งนี้ มีการโยงปัญหาด้านแรงงาน เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก สำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์นั้นก่อนที่จะมีการประการออก พ.ร.ก.ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการรณรงค์อย่างหนักให้ใช้แรงงานอย่างถูกต้อง “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”

ขณะที่นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ รัฐมนตรีจะลงนามข้อผ่อนคลาย กรณีที่นายจ้างมีชื่อไม่ตรงในบัตร สามารถนำลูกจ้างไปขอใบอนุญาตใหม่ให้ถูกต้องคาดว่ามีหลายหมื่นคนที่จะผ่านการพิสูจน์สัญชาติ โดย 3 ประเทศขอให้มีการเปิดพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเริ่มที่ประเทศพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ 1.8 แสนคน และในวันนี้รัฐมนตรีก็จะพูดคุยกับทางกัมพูชา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีแรงงานเข้าสู่ระบบจำนวน 4 แสนราย และในสัปดาห์หน้าจะได้หารือกับทางการลาวด้วย โดยเมื่อประเทศต้นทางออกเอกสารบัตรประจำตัวหรือซีไอ ที่มีอายุ 4 ปี ก่อนที่จะนำไปขอวีซ่าและขอใบอนุญาตทำงานภายใน 15 วัน ซึ่งขั้นตอนตามกระบวนการเสียค่าดำเนินการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,500 บาท โดยเป็นค่าธรรมเนียมวีซ่า 500 บาท ใบอนุญาตทำงาน 900 ไม่ใช่หลักหมื่นตามที่พูดกัน

นายวรานนท์กล่าวต่อว่า สำหรับลูกจ้างไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆ กลับบ้านไปแล้ว 6 หมื่นราย ซึ่งเมื่อผ่อนคลายตามมาตรา 44 ก็จะกลับเข้ามาในระบบตามข้อตกลง ก็จะรีบดำเนินการ โดยนายจ้างจะนำลูกจ้างมาพิสูจน์นิติสัมพันธ์ โดยจัดศูนย์ตั้งโต๊ะในทุกจังหวัดรวมทั้ง กทม. ที่จะมี 300 โต๊ะ 10 ศูนย์ ส่วนจังหวัดเล็กๆ มี 30 โต๊ะ ซึ่งระยเวลาไม่ยาวไม่สั้น เพื่อไม่ให้มีการนำแรงงานใหม่เข้ามา แต่จะเป็นระยะเวลาที่ทันให้นายจ้างมายื่นแจ้ง อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงจะทบทวนกระบวนการที่จะอำนวยความสะดวก ควบคุม ให้เหมาะสม เกิดการจูงใจให้มีการนำแรงงานเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด สำหรับข้อกังวลการนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่ สำหรับข้อกังวล ในเรื่องการทุจริตเนื่องจากอัตราโทษปรับสูง ทาง รมว.แรงงาน ได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ต้องไม่มีการทุจริตถ้ามีการทุจริตจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง


ที่มา : มติชนออนไลน์