เหตุการณ์ประชาชนและ สส.เกาหลีใต้ร่วมกันคัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นเรื่องจับใจผู้รักประชาธิปไตยชาวไทย
การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว อ้างว่าเพื่อปกป้องประเทศให้รอดพ้นภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และเพื่อดำเนินการกับฝ่ายค้านที่กระทำการต่อต้านรัฐ โดยพยายามล้มล้างรัฐบาลด้วยการเห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ
เป็นมุขโบราณ ประเภทอ้างภัยคอมมิวนิสต์มาปลุกความไม่พอใจของประชาชน ซึ่งในสมัยนี้ขายไม่ออก และไม่น่าจะฟังขึ้นอีกต่อไปแล้ว
ก็ไม่แปลกที่ชาวเกาหลีจะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล และประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว
“จุดแข็ง” ของเกาหลีใต้ ได้แก่รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ประชาชนและ สส.สามารถหยุดยั้งการตัดสินใจของรัฐบาลได้
และเป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ จนเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศสมัยใหม่ มีสถานะเป็นประเทศชั้นนำของเอเชียไปแล้ว
เรื่องของรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองและบริหารประเทศคือ “เงื่อนไข” และ “ข้อแตกต่าง” ระหว่างเกาหลีใต้กับประเทศอื่น ๆ
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจในปี 2566 พร้อมกับนโยบายรื้อรัฐธรรมนูญ จัดทำใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
เวลาผ่านไป 1 ปี นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยพ้นตำแหน่งไปแล้ว 1 คน มีนายกฯ ใหม่มารับช่วงต่อ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังไปไม่ถึงไหนติดแหง็กที่ สว.ชุดล่าสุดที่เกิดมีไอเดียที่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยในเรื่องการทำประชามติ
และกลายเป็นประเด็นที่แกนนำรัฐบาลกำลังหา “จุดลงตัว” แต่ก็ยังมองไม่เห็นชัดนัก
ประเทศจะมีการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เข้มแข็ง จะต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากคณะรัฐประหาร
เพื่อวางแนวทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่วางแนวทางสกัดกั้น ไม่ให้ประชาชนใช้อำนาจ
ประเด็นสำคัญของการให้ประชาชนมีอำนาจชี้นำการเมืองได้ ก็คือต้องมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจนี้ไว้
ขณะเดียวกัน ต้องมีการคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ด้วยการห้ามเด็ดขาด มิให้เกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์
ในการเมืองของไทย ยังขาดการคุ้มครองในจุดนี้ และยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดรัฐประหารได้อีกด้วย
นอกจากไม่คุ้มครองเท่าที่ควร บ้านเมืองเรายังให้โอกาสคณะรัฐประหารเข้าบริหารบ้านเมือง เพราะมีคำพิพากษาฎีกาปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2505 ระบุทำนองว่า เมื่อคณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ
หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง
เหตุการณ์ในเกาหลีใต้จึงเป็นคำเตือนอันมีค่า ที่ระบุว่ายังต้องเดินกันอีกไกลและอีกหลายก้าว
หากต้องการให้ประชาชนมีอำนาจกำหนดการเมือง