17 ปี กฎหมายกลาโหม ด่านหิน…ตัดวงจรรัฐประหาร

เพื่อไทย กลาโหม
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. … ที่เสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทย 20 คน เพื่อสกัดปฏิวัติ-รัฐประหาร ถูกสกัด ถอยไม่เป็นทรง

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยัน ไม่เห็นด้วย

คำพูดที่มีน้ำหนักที่สุด คือ คำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า “เป็นความคิดริเริ่มของบางคน โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองของพรรค”

ขณะที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย และในรัฐธรรมนูญ มีเรื่องนี้อยู่แล้ว เราต้องแสดงจุดยืนในวันนี้ พุทธศักราชนี้ ว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาไปแทรกแซงกองทัพ ส่วนอะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ต้องร่วมมือกันคิดร่วมมือกันทำ นี่คือสิ่งที่ในวันนี้ ปีนี้ รัฐบาลนี้ต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

ย้อนที่มา พ.ร.บ.กลาโหม

พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นมรดกสำคัญที่ทำให้ “ทหาร” ถือไพ่เหนือ “ฝ่ายการเมือง” มาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ

ต้องย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ รัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันไม่ให้ “ฝ่ายการเมือง” เข้ามา “ล้วงลูก” การแต่งตั้งโยกย้ายภายใน “กองทัพ”

ADVERTISMENT

สาระสำคัญคือการตัดอำนาจของ รมว.กลาโหม ในการแต่งตั้งโยกย้าย

ในมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า “การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด”

ADVERTISMENT

“ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสองและระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย”

ซึ่งฝ่ายการเมืองที่มีเสียงโหวตในคณะกรรมการมีเพียง 2 เสียง คือ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหมเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายกองทัพมีถึง 4 เสียง

โหวตอย่างไรฝ่ายการเมืองก็แพ้ในการทำโผทหาร

พยายามแก้ในยุคยิ่งลักษณ์

แม้ว่าหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน อันเป็นร่างใหม่ ของ “พรรคไทยรักไทย” จะชนะการเลือกตั้ง มีนายกฯชื่อ สมัคร สุนทรเวช

แต่พรรคพลังประชาชนยังไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องการแก้กฎหมายจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม แต่ไปเล่นเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 พุ่งเป้าไปที่ล้าง “ผลไม้พิษ” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน รวมถึงแก้เรื่องการยุบพรรค

ทว่า การผลักดันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นชนวนทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาเคลื่อนไหวยาวนาน 193 วัน เปลี่ยนนายกฯ 2 คน และยุบพรรคพลังประชาชนในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม กลายเป็นประเด็นใหญ่อีกครั้งในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

เพราะเกิดเหตุที่พรรคเพื่อไทย งัดข้อกับกองทัพ โดยมี พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวประกัน เมื่อบัญชีแต่งตั้ง-โยกย้าย นายทหารจำนวน 584 นาย ที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน ไม่มีคนของฝ่ายการเมืองติดโผเลยแม้แต่เก้าอี้เดียว โดยเฉพาะตำแหน่งคุมกำลัง ไปจนถึงนายพล

ทำให้ฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า “กองทัพ” ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตาม พ.ร.บ.กลาโหม ผลักดันคนของตัวเองขึ้นสู่อำนาจชนิดยกแผง โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนได้

ส่งผลให้การจัดทำบัญชีแต่งตั้งนายทหารจะต้องผ่านบอร์ดคณะกรรมการกลาโหม ที่ขณะนั้นมีฝ่ายการเมืองร่วมบอร์ดเพียงเสียงเดียว คือ “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” รมว.กลาโหม ในขณะนั้น นอกนั้น เป็นคนของเหล่าทัพทั้งสิ้น

ที่สุดแล้ว คนที่ถูกเปลี่ยนออกคือ “พล.อ.ยุทธศักดิ์” โดยที่ พ.ร.บ.กลาโหม ไม่ได้ถูกแตะต้อง และลงเอยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกโค่นอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

พ.ร.บ.กลาโหมในยุค “บิ๊กทิน”

มาถึงปี 2566 พรรคเพื่อไทย ในทศวรรษใหม่ มีนโยบายปฏิรูปกองทัพที่เสนอต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบายไว้ว่า

“ปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพเสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ”

เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และส่ง “สุทิน คลังแสง” เป็น รมว.กลาโหม ได้ยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อประกบกับฉบับของพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) หากต้องพิจารณาในสภา

16 สิงหาคม 2567 หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ นายเศรษฐา ทวีสิน มีรายงานในขณะนั้นว่า ที่ประชุมสภากลาโหม เห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยสาระสำคัญเรื่องการสกัดกั้นการทำรัฐประหาร ให้อำนาจนายกฯ โดยความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งพักราชการทหารคิดทำการรัฐประหาร และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

ทว่า หลังจากเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม จาก “สุทิน” เป็น “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปรากฏว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ปรากฏในเว็บไซต์กฎหมายกลางเพื่อรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 กลับไม่มีเรื่องการสั่งพักราชการทหารที่คิดทำการรัฐประหาร

แต่กลับมาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” จากพรรคเพื่อไทย เสนอ

โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ก่อการกบฏหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งให้พักราชการตามกฎหมายนั้น

“ประยุทธ์” กล่าวระหว่างการแถลงขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวไปปรับปรุง 24 จุด ว่า ผมไม่ได้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ควรเสนอได้ จึงมาสอบถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ใครเป็นผู้จัดทำขึ้น และได้คำตอบว่ากระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดทำ ในสมัยของนายสุทิน เป็น รมว.กลาโหม และเมื่อพ้นตำแหน่งไปก็ได้ส่งเรื่องกฎหมายฉบับนี้มายังพรรคเพื่อไทย

ทางคณะกรรมการกฎหมายของพรรคจึงได้ดำเนินการต่อ มีการเติมพริก เติมเกลือ เติมมะนาวบ้าง เพื่อให้เกิดรสชาติ และอาจจะมีความผิดเพี้ยนจากร่างกระทรวงกลาโหมไปบ้างเล็กน้อย แต่ถามว่าสิ่งที่เพิ่มเติมนั้นผิดวิสัยในการเสนอกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยอาจทำแบบอย่างหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธ

ที่สุดแล้วการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กลาโหม ที่มีมา 17 ปี เพื่อสกัดปฏิวัติรัฐประหาร ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา