พรรคพลังประชารัฐประชุม สส. และกรรมการบริหารพรรค เมื่อ 12 ธ.ค. ที่รัฐสภา และลงมติขับ 20 สส. รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรค ออกจากพรรค
ด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค
การประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกและ สส. ทั้ง 2 กลุ่มเข้าประชุม อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค, นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้ร่วมประชุม
มติของที่ประชุมให้ขับ 20 สส. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 โดยผู้ที่มีชื่อให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค งดออกเสียง มีผลทำให้สมาชิกภาพของ 20 สส. สิ้นสุดในวันนี้ทันที
กระบวนการจากนี้จะนำรายงานการประชุมเสนอต่อ กกต. เมื่อขั้นตอนนี้เรียบร้อย 20 สส. จะสมัครเข้าพรรคใหม่
พรรคที่จัดตั้ง Stand By ไว้ก่อนแล้ว คือ “พรรคกล้าธรรม” ที่มี “ดร.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมว.เกษตรฯ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งมี สส.อยู่แล้ว 4 คน รวมถึง “ดร.แหม่ม” ด้วย
ทำให้พรรคกล้าธรรม โตพรวด มี สส.ในฉับพลันทันที 24 คน
มีคอนเน็กชั่นการเมืองกว้างขวาง จาก “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า”
และมีสถานะเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล”
แล้วพรรคพลังประชารัฐภายใต้ พล.อ.ประวิตร จะไปยังไงต่อ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค กล่าวถึงอนาคตภายหลังขับ 20 สส. ว่า พรรคจะมั่นคงแข็งแรง เราทำงานตามกระบวนการทุกสัปดาห์ กก.บห. พรรคจะประชุมร่วมกับ สส. เพื่อวางแผนทำหน้าที่
โดยระบุสถานะของพรรคว่า ในฐานะฝ่ายค้าน จะตรวจสอบรัฐบาล เน้นดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
เช่น ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ สส. และ กก.บห.พรรคลงไปช่วยเหลือ พร้อมสรรหาผู้สมัคร สส. ในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย
โดย พล.อ.ประวิตร มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐ จะได้ สส.เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ท่านพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร จะวางมือ และเซ้งพรรค นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ท่านคุยกับตนหลายครั้งว่า มีความพอใจที่จะทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตลอดไป
พรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ดูแล สส. ด้วยตนเอง รวมถึงผู้สมัคร สส. ทุกคน ท่านจะเป็นผู้คัดเลือกเอง ร่วมกับรองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบ
ซึ่งต่างจากพรรคอื่น ท่านเป็นหัวหน้าพรรคที่ใกล้ชิดกับ สส. มากที่สุด
ต้องจับตาดูบทบาทของพรรค พปชร. ในฐานะฝ่ายค้านภายใต้ พล.อ.ประวิตร กันต่อไป
ว่าจะตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นแค่ไหน
สำหรับ พล.อ.ประวิตร เป็นแกนนำของคณะรัฐประหาร 2557 ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายทหารรุ่นน้องขึ้นเป็นนายกฯ อย่างยาวนานจาก 2557 ถึง 2566 รวมเวลา 9 ปีด้วยกัน
โดยปี 2562 มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
ในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ แยกตัวออกจากพลังประชารัฐ และเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ได้ สส. ไม่เข้าเป้า
พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเลิกราจากการเมือง และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี
ส่วน พล.อ.ประวิตร รับดูแลพรรคพลังประชารัฐ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค แต่ได้ สส. เข้ามาต่ำกว่าเป้าหมาย
ยังดีที่ได้ร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ
ก่อนถูกตัดออกจากรัฐบาล เมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รับหน้าที่นายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์ เชิญกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส เข้าร่วมรัฐบาล
มีตำแหน่ง รมต. 3 คน ประกอบด้วย ดร.นฤมล, นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ
ในฐานะฝ่ายค้าน พรรคพลังประชารัฐเผชิญมรสุมต่าง ๆ มากมาย จากบุคคลที่เคยอยู่เครือข่าย
สถานะของ พล.อ.ประวิตร ผันแปรจากอดีตที่ใคร ๆ ต้องวิ่งเข้าหา ในฐานะแกนนำรัฐประหาร อดีตแกนนำพรรคหลักในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากปี 2562-2566
กลายเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านลำดับสอง รองจากพรรคประชาชน
ส่วนจะผันแปรอย่างไรต่อไปในอนาคต ท่ามกลางการเมืองที่ผันแปร
ยังยากที่จะให้คำตอบ