คอลัมน์ : Politics policy people forum
การเมืองในปี 2568 ดุลอำนาจจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง
เมื่อองค์กรอิสระหลายแห่ง ซึ่งมีหน้าที่ “ตรวจสอบ-ถ่วงดุล” อำนาจทางการเมือง ถึงคิวเปลี่ยนตัวกรรมการ
หลังจากในปี 2567 แลนด์สเคปการเมืองได้พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อ สว. 200 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายจากสภาล่าง
พร้อมกับภารกิจสำคัญ คือ เป็นหน่วย HR ทำการเห็นชอบองค์กรอิสระ
สำคัญกว่านั้น สว.ที่เป็นดุลอำนาจใหม่ในปี 2567 กลายเป็น สว.สีน้ำเงิน เกินครึ่งกว่า 160 เสียง
สว.สีน้ำเงิน ถูกโยงถึงพรรคการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับสองในรัฐบาลครองที่นั่ง 70 เสียง
องค์กรอิสระผลัดใบ
ในช่วงปลายปี 2567 มีกรรมการในองค์กรอิสระที่มีการผลัดใบ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 6 คน ครบวาระพร้อมกัน ประกอบด้วย พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ, นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์, นายสรรเสริญ พลเจียก, ศ.ดร.อรพิน ผลสุวรณ์ สบายรูป
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้มีการคัดเลือกผู้สมัครที่ผ่านการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่ง คตง. ทั้ง 6 คน แต่ยังต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และรับรองจาก สว.
คือ 1.นายยุทธพงษ์ อภิรัตน์รังษี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด 2.นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 3.นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 4.นางพรพิมล นิลทจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตนักตรวจสอบภายใน สำนักตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5.นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 6.น.ส.พศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ 4 ข้อ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 1.วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน 2.กําหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน 3.กํากับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม 1 และ 2 และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
4.ให้คําปรึกษาแนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน 5.สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เมื่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ต้องใช้งบฯ-เงินมหาศาลในการเดินหน้านโยบายรัฐบาล ไม่ว่าโครงการแจก 10,000 บาท ทั้งนโยบายเติมเงินผ่านผู้สูงอายุ 60 ปี นโยบายเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต ล้วนต้องใช้เงินมหาศาล และ คตง. คือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบฯ-เงินของรัฐบาล
ป.ป.ช.พ้น 3 ตำแหน่ง
ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครบวาระ 3 คน ในเดือนธันวาคม 2567 คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายวิทยา อาคมพิทักษ์
และผู้ที่เข้ารับการสรรหาแทน ป.ป.ช. ทั้ง 3 คน มีกว่า 40 คน มีทั้งอดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร ตำรวจ ทนายความ
คดีสำคัญ ๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่งจะร้อนแรงในปี 2568 คือ คดีชั้น 14 ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 คน คดีที่ดินเขากระโดง รวมถึงคดีของ 44 สส.พรรคก้าวไกล เข้าชื่อยื่นแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะตัดสินในปี 2568
ศาล รธน. 2 ตำแหน่ง
ศาลรัฐธรรมนูญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรมีบทบาทที่สุดในการเมือง เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญล้วนเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองทั้งสิ้น ในปี 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 2 คดีที่พลิกกระดานการเมือง ทั้งการยุบพรรคก้าวไกล และคดีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
โดยมีตุลาการ 2 คน จะครบวาระ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และปัญญา อุดชาชน และต้องสรรหาใหม่
โดยมีผู้ที่เข้ารับการสรรหาแทนตุลาการ 2 คน มีจำนวนถึง 11 รายที่ยื่นสมัคร มีทั้งนักวิชาการ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตอัยการ อดีตทูต อดีตข้าราชการ
ประกอบด้วย 1.ศ.ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ศิลปากร 2.ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 3.ร.ต.ท.อุทัย อาทิเวช อดีตรองอัยการสูงสุด 4.นายธัญญา เนติธรรมกุล อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 5.นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก
6.นายสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง 7.นายสุรชัย ขันอาสา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
8.นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง และผู้พิพากษาศาลฎีกา 9.นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10.นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 11.นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
สรรหา 5 กกต.คนใหม่
องค์กรสำคัญอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีกรรมการที่จะครบวาระ 5 คน ในปี 2568 ประกอบด้วย
1.นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568 2.ศ.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568 3.นายปกรณ์ มหรรณพ หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568 4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ หมดวาระในเดือนธันวาคม 2568 5.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ หมดวาระในเดือนธันวาคม 2568
คดีสำคัญที่อยู่ในการพิจารณาของ กกต. คือ คำร้องให้ตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีครอบงำพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ภารกิจหลักในการจัดเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 1 กุมภาพันธ์ 2568 และช่วงปลายปีอาจมีการทำประชามติ รัฐธรรมนูญครั้งที่ 1
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายชื่อ บุคคลที่เข้ารับการสรรหาเป็น องค์กรอิสระ ทั้ง ป.ป.ช. ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และลงลึกถึงรายชื่อบุคคลที่ถูกส่งไปเป็นตัวแทนคณะกรรมการสรรหาจะพบร่องรอย-เครือข่ายการเมือง ที่พยายามวางขุมกำลังเอาไว้เป็นกลไกในองค์กรอิสระ
ตัวอย่าง เช่น อดีตอธิบดีบางราย ที่เติบโตในยุคการเมืองบางพรรค หรืออดีตผู้ว่าฯ ที่เคยอยู่ในทีมคณะทำงานรัฐมนตรีบางพรรค ก็กระโดดมาลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นหนึ่งในกรรมการองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ
การสับเปลี่ยนกำลังขององค์กรอิสระจะเป็นดุลอำนาจใหม่ในทางการเมือง 2568 โดยมี สว.สีน้ำเงินทำหน้าที่รับรององค์กรอิสระ