เปิดสูตร 200 ส.ส.ร.ฉบับเพื่อไทย ตั้ง 47 อรหันต์ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 180 วัน

รัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อไทย
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พรรคเพื่อไทย ตั้งไข่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 อีกครั้งในปี 2568 ด้วยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

และเพิ่มหมวด 15/1 ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาประกบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ของพรรคประชาชน

ผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี ส.ส.ร. แล้วค่อยทำประชามติถามประชาชน

จากเดิมที่จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

ครั้งแรก ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2

ADVERTISMENT

ครั้งที่ 2 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีกระบวนการยกร่างใหม่ ส.ส.ร. หรือไม่

และครั้งที่ 3 ถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.ยกร่างหรือไม่

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ให้เหลือการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ตัดการทำประชามติครั้งที่ 1 ออกเพราะในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของพรรคเพื่อไทย ได้เปลี่ยนวิธีแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และในหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติครั้งที่ 1

7 ขั้นตอนยื่นแก้ รธน.

วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ระบุไว้ 7 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 ญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือ สส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สส.ที่มีอยู่ของสภา (50 คน) หรือ สส. บวก สว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อ

ขั้นที่ 2 ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาเป็น 3 วาระ

ขั้นที่ 3 การออกเสียงวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดย “เปิดเผย” และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สว. จำนวน 1 ใน 3 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ออกไป)

ขั้นที่ 4 การพิจารณาวาระสองชั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ใช้ “เสียงข้างมาก”

ขั้นที่ 5 เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้วให้รอ 15 วัน แล้วรัฐสภาพิจารณาในวาระ 3 ต่อไป

ขั้นที่ 6 การลงคะแนนในวาระที่ 3 ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(ตัดส่วนที่จะต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ไม่มีประธานหรือรองประธานสภา รวมถึงตัดเสียงเห็นชอบของ สว.จำนวน 1 ใน 3 ออก)

ขั้นที่ 7 เมื่อการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน พร้อมเปิดช่องให้ สส. หรือ สว. หรือสมาชิกทั้ง 2 สภา รวมกันเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีกรณียื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้

ทั้งนี้ กรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน

11 ขั้นตอนรัฐธรรมนูญใหม่

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนขึ้นมายกร่าง โดยมี 11 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 ให้มี ส.ส.ร.มาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ขั้นที่ 2 กำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ร. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 5 ปี, เกิดในจังหวัดที่สมัคร, เคยศึกษาในจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา, เคยรับราชการในจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 ปี และกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครแบบเดียวกับลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. มาใช้บังคับ และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง, สส., สว. หรือรัฐมนตรี

ขั้นที่ 3 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ใช้วิธีเลือกตั้งแบบเดียวกับการเลือกตั้ง สส.

ขั้นที่ 4 ให้มีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรองประธานจำนวน 1 หรือ 2 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. และกำหนดหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ตั้ง 47 อรหันต์ ยกร่าง รธน.

ขั้นที่ 5 ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย กรรมาธิการ จำนวน 47 คน โดยแต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร.จำนวน 24 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 23 คน ซึ่งมาจาก ส.ส.ร.แต่งตั้งจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 12 คน (ตามอัตราส่วนของจำนวน สส.ของแต่ละพรรค) วุฒิสภา 5 คน และคณะรัฐมนตรี 6 คน รวมเป็น 24 คน

ขั้นที่ 6 ให้ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก

ขั้นที่ 7 กำหนดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต้องทำในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง

ขั้นที่ 8 ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ “ห้ามมิให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

ขั้นที่ 9 เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ให้เสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใน 30 วัน หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่า “เห็นชอบ”

ขั้นที่ 10 เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต. เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ

ขั้นที่ 11 กรณีรัฐสภาเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบให้ส่งร่างไปยัง ส.ส.ร. และให้ ส.ส.ร. พิจารณาแก้ไขตามความเห็นของรัฐสภา หรือลงมติยืนยันร่างเดิมภายใน 30 วัน โดยการลงมติต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ร.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และส่งร่างไปยังรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นและส่งร่างให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติ

หาก ส.ส.ร.ไม่ลงมติยืนยันด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ภายในกำหนด ให้ถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยังต้องฝ่าด่านสำคัญ

ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.จำนวน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง เสียก่อน หากไม่ได้รับไฟเขียวจาก สว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทยก็อาจจะไม่ถึงฝั่ง