มือปราบโจร…สู่…นักจับโกงเลือกตั้ง “จรุงวิทย์” พ่อบ้าน กกต. คสช.ปลดล็อกช้า เผาเวลาเลือกตั้ง

เพราะผลกระทบของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 3 ฉบับ 57/2557-3/2558 มัดตราสังพรรคการเมือง-นักเลือกตั้งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ออกคำสั่ง 53/2560 อีกฉบับ เพื่อเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองเก่า จากพรรคที่มีสมาชิกพรรคเกินแสน เกินล้าน หายวับเหลือแค่หลักหมื่น หลักพัน

สวนทางกับระยะเวลา การเลือกตั้ง ที่คืบคลานเข้ามาเหลือแค่ 11 เดือน ทว่าพรรคการเมืองทั้งเก่า และพรรคก่อตั้งใหม่ ยังต้องทำกิจกรรมเพื่อให้ความเป็นพรรคการเมือง “สมบูรณ์”

รุนแรงที่สุดคือขั้นตอนการทำ “ไพรมารี่โหวต” ที่ต้องใช้เสียงของสมาชิกพรรคในการคัดเลือกตัวผู้สมัครแต่ละเขตเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถเริ่มต้นหาสมาชิกพรรคใหม่แทนสมาชิกเก่าที่หายไปนับแสนรายได้ เพราะยังติดล็อกคำสั่ง คสช.ทั้ง 3 ฉบับ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงเส้นทางการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต้องฝ่าฟันก่อนถึงเลือกตั้ง

บี้พรรคเก่าหาสมาชิกพรรค 

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” อธิบายเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งว่า สำหรับการทำกิจกรรมของพรรคเก่า ตามคำสั่ง 53/2560 ที่แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 141 กำหนดให้พรรค ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน หาสมาชิกพรรค 500 คนใน 180 วัน 5,000 คนใน 1 ปี

“ขั้นตอนตรงนี้มีพรรคการเมืองบางพรรคยื่นขอมาที่ กกต.เพื่อขอดำเนินการหาสมาชิกใหม่แล้ว แต่ตามคำสั่ง 53/2560 บอกว่าพรรคจะต้องมีการประชุมเพื่อให้มีแก้ไขข้อบังคับพรรค ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช.57/2557 3/2558”

“เมื่อขณะนี้ยังประชุมพรรคไม่ได้ เท่ากับยังไม่ได้แก้ไขข้อบังคับพรรคที่เกี่ยวกับเรื่องการรับสมาชิกพรรคที่ต้องมีค่าธรรมเนียม ดังนั้น สิ่งที่พรรคการเมืองทำได้ตอนนี้คือ หาสมาชิกพรรคมาสำรองไว้ก่อนได้ เพราะกฎหมายบอกว่าต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน นับจาก 1 เม.ย. 2561 เมื่อ คสช.ปลดล็อกเมื่อไหร่ก็จึงจะรับเป็นสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการ”

“ตอนนี้เห็นมีพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกพรรคครบ 5,000 คนใน 1 ปี ไม่ต้องหาแล้ว แต่พรรคเก่าบางพรรคยังต้องหาสมาชิกให้ครบอยู่”

นอกจากนี้พรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาทแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน โดยเริ่มนับแต่ 1 เม.ย. 2561 จัดให้มีจำนวนสมาชิกพรรค 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน นับแต่ 1 เม.ย. 2561 เช่นกัน

แจงยิบขั้นตอน “ไพรมารี่”

ส่วนการทำไพรมารี่โหวต “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” อธิบายขั้นตอนว่า หาก คสช.ปลดล็อกคำสั่ง 57/2557 และ 3/2558 อันดับแรกพรรคการเมืองเก่าจะต้องจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค ภาคละ 1 สาขา ภายใน 180 วัน โดยสาขาพรรคแต่ละแห่งต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อยต้อง 500 คน ขึ้นไปเป็นเกณฑ์เบื้องต้น

แต่การไพรมารี่กฎหมายกำหนดให้มี 2 ตัวเลือก 1.เลือกผู้สมัครผ่านที่ประชุมสาขาพรรค 2 เลือกผู้สมัครผ่านที่ประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หากใช้ตัวเลือกที่ 1.คือประชุมสาขาพรรค พรรคการเมืองจะต้องตั้งสาขาพรรคประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งการตั้งสาขาพรรคจะต้องมีสมาชิกพรรคเป็นองค์ประกอบ 500 คนขึ้นไป จะใช้จำนวนสมาชิกเยอะมาก

หรือจะเลือกทางที่ 2 คือ ใช้ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งเป็นเหมือนสาขาพรรคเฉพาะกิจ จะต้องมีไม่ต่ำกว่าจังหวัดละ 100 คน ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทุกเขต 350 เขต ใน 77 จังหวัด จะต้องมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 7,700 คน

“แต่องค์ประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสำหรับไพรมารี่โหวต จะใช้สมาชิกพรรค 50 คน ขึ้นไป ซึ่งสามารถทำไพรมารี่โหวตได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น บทเฉพาะกาลอนุโลมให้ เช่น นครราชสีมามี 15 เขตเลือกตั้ง ที่ประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสามารถคัดเลือกผู้สมัครได้ทั้ง 15 เขต ในนครราชสีมา ส่วนวิธีทำจะใช้วิธียกมือโหวต หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรคการเมืองนั้น ๆ ที่จะต้องแก้ไขหลังจาก คสช.ปลดล็อก”

ปลดล็อกช้าเผาเวลาเลือกตั้ง

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ยอมรับว่า หาก คสช.ปลดล็อกช้ากระทบต่อการทำไพรมารี่โหวตแน่ เพราะพรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการประชุมพรรค ได้แต่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค

“การปลดล็อกช้าเหมือนกับเวลาเลือกตั้งถูกเผาไปเรื่อย ๆ จึงต้องนัดคุยกับฝ่ายรัฐบาลแก้ไขประกาศ คำสั่ง คสช.บางอย่างที่เป็นอุปสรรค เช่น เรื่องการให้หาสมาชิกพรรค ต้องรีบให้พรรคการเมืองทำ หรือให้ประชุมพรรคได้ตามขอบเขต อุปสรรคที่เดินไปสู่การเลือกตั้งต้องปลด เพราะในกฎหมายมีเวลาค่อนข้างแน่นอน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 90 วัน จะนับระยะเวลาเลือกตั้งต่ออีก 150 วัน ถ้าพรรคการเมืองทำไพรมารี่ไม่ทันก็เป็นปัญหาว่าใครบกพร่อง”

“เพราะการทำไพรมารี่ต้องใช้เวลาราว 1 เดือน เพื่อตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของแต่ละพรรค เรียกประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัด มีการสมัครลงเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของแต่ละพรรคที่ต่างกัน ศักยภาพของพรรคต่างกัน จำนวนสมาชิกพรรคต่างกัน ถ้าพรรคไหนสมาชิกพรรคไม่ครบยังต้องหาสมาชิกให้ครบ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง จังหวัดไหนที่พรรคทำไพรมารี่โหวตไม่ทันก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ ถ้าส่งผู้สมัครโดยหลีกเลี่ยงการทำไพรมารี่ก็อาจโดนคดีอาญา”

ส่วน “เส้นตาย” ที่พรรคการเมืองต้องทำไพรมารี่โหวตนั้น เลขาฯ กกต.บอกว่า ต้องทำให้เสร็จก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง เพราะรับสมัครเลือกตั้งเมื่อไหร่ไพรมารี่ต้องพร้อม เนื่องจากหัวหน้าพรรคต้องรับรองว่าคนนี้เป็นผู้สมัครของพรรคนี้ ก่อนการรับรองการเป็นผู้สมัคร ก็ต้องรับรองว่ามีการทำไพรมารี่มาแล้ว

“เราห่วงว่าถ้าไม่ทำไพรมารี่ เท่ากับการปฏิรูปก็ยังไม่เกิด เราเสียเวลา 4 ปี เพื่อออกกฎหมายปฏิรูปมาแล้วไม่ได้ใช้ก็จะดูไม่ดี ไพรมารี่โหวตไม่ใช่แค่การคัดผู้สมัคร แต่มีความหมายอยู่ในตัวคือประชาธิปไตยต้องเริ่มจากพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย ระบบอื่น ๆ ก็เป็นประชาธิปไตยด้วย ดังนั้น การส่งผู้สมัครก็ต้องมาจากสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง เป็นหลักการพิจารณาคือ อำนาจอยู่ที่สมาชิกพรรคในพื้นที่ ไม่ใช่อำนาจอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค”

กกต.เตรียมการเลือกตั้ง 

ไม่เพียงพรรคการเมือง-นักเลือกตั้งที่กังวลความไม่แน่นอนในโรดแมปเลือกตั้งของ คสช.ที่อ่อนไหวและเปราะบาง หากแต่ กกต.ในฐานะฝ่ายปฏิบัติก็ยังเป็นห่วงเรื่องเงื่อนเวลาการทำหน้าที่

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” กล่าวว่า กกต.ต้องออกเขตเลือกตั้ง ปัญหาคือ ยิ่งใกล้ระยะเวลาเลือกตั้งเรื่องการแบ่งเขตมีขั้นตอนว่า กกต.จังหวัดจะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งพร้อมรับฟังความเห็นในพื้นที่ 10-15 วัน ในพื้นที่ก่อนจะนำเสนอให้ กกต.แล้ว กกต.ต้องทำการวิเคราะห์ ทั้งหมดใช้เวลาประมาณไม่เกิน 60 วัน

“ความสำคัญของการแบ่งเขตคือชี้ชะตาการเลือกตั้ง ซึ่งตามปกติการแบ่งเขตจะต้องรอร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ แต่หากไม่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าก็จะกินระยะเวลาเลือกตั้ง 150 วัน ซึ่งจะกระทบการทำไพรมารี่โหวตของพรรคการเมือง ดังนั้น กกต.จึงมีการแบ่งเขตคร่าว ๆ ไว้ พอกฎหมายบังคับใช้ จะต้องตั้งคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วนำสิ่งที่ กกต.แบ่งเขตไว้คร่าว ๆ เข้าไปพิจารณาในคณะกรรมการได้เลย อาจจะใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน”

ถาม “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” หากพรรคนอมินี คสช.หาสมาชิกเพื่อทำไพรมารี่ไม่ทัน อาจใช้วิธีการปลดล็อกการเมืองช้าจนพรรคการเมืองอื่นทำไพรมารี่ไม่ทันว่า “ไม่ทราบ กกต.ทำตามกฎหมายไม่ได้คิดถึงสมมุติฐานนั้น”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หาก คสช.ปลดล็อกช้า พรรคที่ได้เปรียบที่สุดคือพรรคนอมินี คสช.ที่รองรับการกลับเข้าสู่อำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์”

……………………

มือปราบโจร…สู่…นักจับโกงเลือกตั้ง

เป็นเวลา 2 ปีกว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีตำแหน่ง “พ่อบ้าน” ตัวจริง หลังจากที่ประชุม 5 เสือ กกต.มีมติเลิกจ้าง “ภุชงค์ นุตราวงศ์” เลขาฯ กกต.คนเก่า ด้วยเหตุผลไม่ผ่านการประเมิน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กกต.เกือบได้ “พ่อบ้าน” รายใหม่ ชื่อ “อำพล วงศ์ศิริ” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่บังเอิญมีเรื่องร้องเรียน กกต.จึงชะลอการเซ็นสัญญาจ้าง และต้องหา “พ่อบ้าน” คนใหม่ในที่สุด

และแล้วเก้าอี้เลขาฯ กกต.ก็ตกเป็นของ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย คนในคนที่ 2 ที่ก้าวขึ้นสู่เลขาฯ กกต.

ก่อนจะรับตำแหน่ง “พ่อบ้าน” ฝีไม้ลายมือ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ในหัวโขนรองเลขาฯ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนฯ ไม่ธรรมดา ช่วงที่เขากุมบังเหียน ไล่แจกใบแดงนักเลือกตั้งจนนำไปสู่การ “ยุบพรรค” 3 พรรค พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคถูกใบแดง-มีส่วนทุจริตเลือกตั้ง

และก่อนย้ายมาอยู่ในรั้ว กกต. “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ในชุดสีกากี เป็น “มือปราบ” โลดแล่นอยู่ใน “กองบังคับการกองปราบปราม” เขาเล่าว่า “คดีสำคัญที่รับผิดชอบช่วงที่เป็นรองผู้กำกับการกองปราบฯ ทำมาแล้วหลายคดี เช่น ทุจริตวัดพระธรรมกาย ทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุข ทุจริตหอการค้าคุรุสภา คดีทุจริตคลองด่าน”

แม้ทำคดีอาจทำไม่ได้ด้วยคนคนเดียว แต่เขาในฐานะเลขาฯของคดีต้องสั่งการให้พนักงานสอบสวนลงพื้นที่ สืบ-เสาะ ทำสำนวนจนกระทั่งจับตัวคนผิดได้

แต่แล้ว “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ก็ลาออกจากกองปราบฯ เบนเข็มสู่ฝ่ายสืบสวนในสำนักงาน กกต. เขาตอบเหตุผลด้วยอารมณ์ดีว่า

“ไม่รู้สิ…มันบาปมั้ง (หัวเราะ) อาจเป็นเพราะทำงานเหนื่อย ตำแหน่งของเรามีแต่สร้างศัตรู” 

แต่พอย้ายมาอยู่ กกต.ก็ต้องรับผิดชอบสืบสวนสอบสวน ไล่จับนักการเมืองที่ทำทุจริต เขาตอบว่า “ก็ยังดี เราไม่ได้ทุกข์ใจเรื่องตำแหน่ง เป็นไปตามสเต็ป ถึงเวลาที่เหมาะสมก็มีการปรับตำแหน่ง”

“แต่ตำรวจมีหลายปัจจัย…”