
แพทองธาร พบผู้บริหาร Hisense-Xiaomi ดึงตั้งฐานการผลิตในไทย ยันบีโอไอสนับสนุนเต็มที่ มั่นใจ ชิ้นส่วนในประเทศของไทยมีคุณภาพสูง
ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ Mr. JIA Shaoqian, Chairman, Hisense Group ผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีน เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจริยะ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า จ้างงานรวมทั่วโลกกว่า 56,240 คน (R&D 3,317 คน)
และเป็นหนึ่งในองค์กรทรงอิทธิพลด้าน ESG จาก Fortune China 3 ปี (ปี 2565-2567) ของ Prestigious มีเป้าหมาย ESG (Hisense Group) Carbon Peaking ไม่เกินปี 2569 และ Carbon Neutrality ไม่เกินปี 2593
โดยนายกฯกล่าวว่า ขอบคุณที่เข้าพบและบริษัทให้ความไว้วางใจลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการขยายการลงทุนของบริษัท โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหน่วยงานหลักประสานงานและอำนวยความสะดวกการลงทุนให้แก่บริษัท
ทั้งนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนพร้อมกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก จึงหวังว่าบริษัทจะพิจารณาใช้ชิ้นส่วนในประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย
นอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งแล้ว ยังจะช่วยให้การลงทุนของบริษัทในไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยบีโอไอพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัทผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า แรงงานไทย มีประสบการณ์และทักษะ เชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทได้ บีโอไอพร้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทพิจารณาพัฒนาแรงงานทักษะของไทยร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น
ด้านผู้บริหารบริษัทกล่าวว่า เล็งเห็นความสำคัญต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้าน โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบีโอไอ ทั้งนี้บริษัทเห็นว่า เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างมั่นคง และมีพื้นฐานอันดี พร้อมกระชับความร่วมมือมากขึ้นในอนาคต และตั้งใจมีส่วนช่วยยกระดับห่วงโซ่ในไทยมากขึ้นด้วย
ต่อมา น.ส.แพทองธาร พบหารือกับ Mr.Alain Lam, CFO และ Vice President, Xiaomi Corporation โดยนายกฯยินดีที่ได้พบและทราบว่าบริษัทได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และหวังว่าบริษัทจะพิจารณาให้ไทยเป็นฐานสำคัญของบริษัท หรือพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตลาด และอุปกรณ์อัจฉริยะในประเทศไทยและตลาดอาเซียน ทั้งนี้รัฐบาลและบีโอไอ พร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนรวมถึงความสะดวกในการทำธุรกิจ
ขณะที่บีโอไอกล่าวว่า ไทยมีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในอาเซียน มีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่เอื้ออำนวย และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง จึงหวังว่า บริษัทจะพิจารณาจัดตั้งโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศที่ประเทศไทย รวมถึงกิจกรรม R&D ที่มุ่งพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย
ด้านผู้บริหาร Xiaomi กล่าวว่า บริษัทสามารถทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวนมากนับตั้งแต่เปิดตัวรุ่นแรก (SU7) เมื่อเดือน มี.ค. 2024
ทั้งนี้ บริษัท Xiaomi Corporation สำนักงานใหญ่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสำหรับโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2567 ติดอันดับที่ 397 จากการจัดอันดับ Fortune Global 500 ติดต่อกันเป็นปีที่หก และ Fortune China 500 ในอันดับที่ 102 Xiaomi เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอุปกรณ์ IOT, AIOT (อุปกรณ์ IOT ที่ทำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ IOT ให้มีความอัจฉริยะยิ่งขึ้น) และ Smart Devices
โดยมีผลิตภัณฑ์ เช่น สมาร์ทโฟนที่ใช้เฟิร์มแวร์พัฒนาเอง (เช่น รุ่น Mi Series, Mi Note Series, Mi Max Series, Mi Mix Series และ Redmi Series) ในปี 2561 ขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Tablet Laptop และ Smart Home Devices หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่สั่งการผ่านระบบ IOT และล่าสุดปี 2567 บริษัทขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า