รู้ยัง? ‘เตวีสติ’ คืออะไร มาทำความเข้าใจกับวิธีนับแบบภาษากฎหมายกัน

หลังจากกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่นำโดย นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้เลิกใช้ 3 มาตรา ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เทศบาล พ.ศ. 2496 ประกอบด้วย มาตรา 4 มาตรา 12 และมาตรา 48 เตวีสติ

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะงงว่า ‘เตวีสติ’ ตืออะไร???

เพราะตามภาษากฎหมายทั่วไป เราจะเห็นกฎหมาย บางบท บางมาตรา มีการระบุว่า มาตรา 15  มาตรา 15 ทวิ มาตรา 15 ตรี  หรือถ้าเต็มที่เราอาจจะเจอ มาตรา 15 จัตวา

และไม่บ่อยที่จะเห็น การกำกับด้านหลังมาตราไปมากกว่านั้น

โดยการนับกฎหมายดังกล่าวจะไม่เห็นในกฎหมายใหม่แล้ว เพราะปัจจุบัน เวลาร่างกฎหมาย จะเป็นการระบุมาตรา 15/1 มาตรา 15/2 มาตรา 15/3 มาตรา 15/4 แทน

แต่ในกฎหมายเก่าบางฉบับยังคงยึดรูปแบบเดิม อย่าง พ.ร.บ.เทศบาล ประกาศใช้เมื่อปี 2496 โดยมีการยกเลิกกฎหมายเดิม ที่ออกมาเมื่อปี 2486 ที่มีรากเดิมมาจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เพียง 1 ปี

ทั้งนี้การนับเลข แบบเอก ทวิ ตรี จัตวา เป็นภาษาบาลี เป็นการนับที่เรียกว่า ปกติสังขยา (Cardinals) คือการนับโดยปกติ เช่นเดียวกับ  หนึ่ง  สอง  สาม  สี่  ห้า,  สำหรับนับนามนามให้รู้ว่ามีประมาณเท่าใด

ซึ่งในพ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 48 มี่ทั้งหมด 25 ข้อ หรือที่ถูกกำหนดในกฎหมายว่า มาตรา 48 ปัญจวีสติ

เรามาดูกันว่า การนับเลขแบบ ปกติสังขยา ที่ถูกใช้ในกฎหมายนั้น มีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า การอ่านตัวเลขข้อย่อยของมาตรา ภาษาทางกฎหมายจะใช้ว่า “อนุมาตรา (หนึ่ง/สอง/สาม …)” ไม่อ่านว่า “ข้อหนึ่ง (สอง สาม …)”

พ.ร.บ.บางฉบับในบางมาตราอาจมีตัวเลขมาตราเดียวกันหลายมาตราแต่มีคำบาลีหรือสันสกฤตที่มีความหมายบอกลำดับเลขที่ต่อท้ายตัวเลขมาตรานั้น ๆ เช่น “มาตรา 211 ทวิ”  “มาตรา 211 ตรี” เรียงต่อ ๆ กันไป สุดแต่จะมีจำนวนเท่าใด แล้วจึงเป็นไปตามลำดับเลขมาตราถัดต่อไป

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังจากที่พ.ร.บ.เรื่องนั้นประกาศใช้ไปแล้ว และส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องเดียวกับความในมาตราของพ.ร.บ.ฉบับเดิมซึ่งควรนำมารวมไว้ที่เดียวกับมาตราเดิม ส่วนที่เพิ่มเติมใหม่ที่จัดเรียงต่อจากมาตราเดิมเป็นอันดับแรกจะใช้ว่า “มาตรา … ทวิ” หากมีมาตราที่เพิ่มเติมมากกว่านั้นก็จะเป็น … ตรี … จัตวา ฯลฯ กำกับต่อท้ายเลขมาตราของพ.ร.บ.ฉบับเดิมไปจนหมดส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องแก้ไขเลขมาตราในลำดับถัดไปใหม่หมดทั้งฉบับ ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยากและทำให้สับสนใจเรื่องการอ้างมาตราของพระราชบัญญัตินั้นๆ ที่เคยอ้างไว้แล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายได้

นี่จึงเป็นที่มาของการนำคำบาลี มาใช้กับกฎหมายไทย และเพื่อสร้างความเข้าใจกับบุคคลทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับการนับจำนวนแบบบาลีในภาษากฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น นะจ๊ะตัวเธอว์!!..

 

ที่มา:มติชนออนไลน์