โหวตรัฐธรรมนูญรอบใหม่ อินไซด์เพื่อไทย วัดกำลัง สว.สีน้ำเงิน

รัฐธรรมนูญรอบใหม่
คอลัมน์ : Politics policy people forum

วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปรียบเหมือน “ยาขม” ของรัฐบาลเพื่อไทย เพราะอายุรัฐบาลผ่านมา 2 ปียังไม่มีท่าทีจะผลักดันได้สำเร็จ ยังติดสารพัดล็อก

กับวาระการประชุมร่วมรัฐสภาล่าสุด มีคิวการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อันเป็นการพิจารณาร่างของพรรคเพื่อไทย 1 ฉบับ และร่างของพรรคประชาชน 1 ฉบับ ซึ่งความแตกต่างใหญ่ของ 2 ร่าง จาก 2 พรรค อยู่ที่การได้มาซึ่ง ส.ส.ร.และจำนวน ส.ส.ร. รวมถึงเงื่อนไขที่จะแก้ไขเพิ่มเติม

ของพรรคเพื่อไทย ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย กรรมาธิการ จำนวน 47 คน โดยแต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร.จำนวน 24 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 23 คน ซึ่งมาจาก ส.ส.ร.แต่งตั้งจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 12 คน (ตามอัตราส่วนของจำนวน สส.ของแต่ละพรรค) วุฒิสภา 5 คน และคณะรัฐมนตรี 6 คน รวมเป็น 24 คน

ให้เวลากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 180 วัน โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามมิให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ของพรรคประชาชน ให้มี ส.ส.ร. 200 คน แบ่งเป็น 100 คน มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และ 100 คนเป็น ส.ส.ร.แบบบัญชีรายชื่อ ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ให้เวลากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 360 วัน เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ

ADVERTISMENT

จับตาเกมคว่ำร่าง รธน.

การพิจารณาทั้ง 2 ฉบับ ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ เป็นการพิจารณาว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะโหวต “รับ” หรือ “ไม่รับ” หลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

ทว่าด่านสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่พรรคฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน แต่อยู่ที่อีกขั้วอำนาจ คือ สว. เพราะร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ จะฝ่าด่านรับหลักการได้ต้องใช้เสียงของ สว. 67 เสียง หรือ 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย

ADVERTISMENT

แต่ปรากฏว่าฝ่าย สว.กลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะ สว.สีน้ำเงินยังมีความ “กังขา” ในเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จะต้องผ่านการทำประชามติก่อนหรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

และยังมีจุดยืนของ สว.สีน้ำเงิน หนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ “รายมาตรา” มากกว่ายกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพื่อเป็นการ “การันตี” ว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2

จึงมีข่าวว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ อาจจะถูกคว่ำอีกรอบ เพราะไม่ได้เสียง สว.ครบ 67 เสียงตามจำนวน แม้ว่าฝ่ายรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทยกับฝ่ายค้าน พรรคประชาชน จะผนึกกำลัง มีเสียงในสภากว่า 285 เสียง

โยนแรงกดดันกลับไป สว.

แม้ว่าก่อนหน้านี้ มีความพยายามจากวิปรัฐบาลในส่วนของพรรคเพื่อไทยส่ง “มือดีล” 3 คน

1.รัฐมนตรีสายคุมกำลังในเพื่อไทย 2.รัฐมนตรีที่รับหน้าที่ประสานงานสภากับรัฐบาล และ 3.มือระดับเก๋าเกมในสภา ไปหยั่งเชิง สว. แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ จำนวน สว.ที่โน้มเอียงมาทาง “รับหลักการ” ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.มีประมาณ 50 เสียงเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในรอบนี้

เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่จะไม่มีความคืบหน้า เพราะติดกับดัก สว.ที่เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องใช้แผน “ตลบหลัง” โยนความกดดันของสังคมกลับไปหา สว.โดยเฉพาะ สว.สีน้ำเงินที่แท็กทีมกันแน่นหนา 150 เสียง เป็นฝ่ายที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ

แย้มผู้ส่งศาล รธน.ตีความ

อาจเป็นที่มาของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการทำประชามติอีกรอบว่า จะทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมกับการทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ชูศักดิ์บอกเป็นนัยว่า ที่ผมทราบจะมีการอภิปรายไปสักพักหนึ่ง อาจจะมีผู้ลุกขึ้นมาโต้แย้ง ในประเด็นการบรรจุวาระนั้น (พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน) ถูกต้องหรือไม่ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมไปถึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเสนอญัตติและทำคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 และตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 เพื่อเข้าชื่อจำนวน 40 คน

เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยหากมีการเข้าชื่อ เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็แสดงว่าพวกเขา มีความไม่สบายใจ ว่าสิ่งที่กระทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่ารัฐสภาจะมีมติเห็นชอบกับแนวทางยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และยอมรับว่าหลายภาคส่วนมีความวิตกกังวล จึงอยากให้ดำเนินการในแนวทางนี้

ส่วนใครจะเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ “ชูศักดิ์” กล่าวว่า “เป็นใคร เราก็รู้ ๆ กันอยู่ ทั้งวุฒิสภาและพรรคการเมือง ผมได้ยินมาเป็นเช่นนั้น ซึ่งเสนอญัตติในทำนองนี้ แทนที่จะนำไปสู่การโหวตเลย ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน เพราะโหวตเลยสมมุติว่าอาจจะไม่ผ่าน ก็เสียของไปเลย แต่หากไปศาลก่อนก็เป็นการเคลียร์คัตกันเสียให้เรียบร้อยก่อนว่ามีความแน่นอนเป็นอย่างไร จะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง”

เพื่อไทยอยากแก้ รธน.

ด้าน “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า มีคนคิดจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นใครก็เป็นสิทธิของเขา เป็นเรื่องปกติของการเมือง หากยื่นในสภาตามข้อบังคับที่ 31 ก็ทําได้ แต่เราก็เดินหน้าในส่วนที่เสนอแก้ไป

หากศาลรับเรื่องไว้พิจารณา ต้องยุติการลงมติไว้ก่อน แต่การอภิปรายคงเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ คือ 13-14 กุมภาพันธ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่

“พวกผมไม่ได้ยื่น แต่พรรคอื่นไม่ทราบว่าเขาคิดอย่างไร ในนามพรรคเพื่อไทยคงไม่ทํา เพราะเราอยากแก้รัฐธรรมนูญ”

ส่วนจะได้เสียง สว.ถึง 1 ใน 3 หรือไม่ “วิสุทธิ์” ตอบว่า “คิดว่า 50/50 ไม่สามารถเดาใจ สว.ได้ เป็นไปได้ทุกทาง”

พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน ถือวาระแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระหลักในการหาเสียง ช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาล ในศึกการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ผ่านมา 2 ปี การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่นับ 1 ติดล็อกสารพัดกลเกม ประกอบกับ ยังมีคำถามถึงความจริงใจของฝ่ายการเมืองทุกขั้วอำนาจว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่

เพราะการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่อแววว่าจะล่มอีกครั้งหนึ่ง หลังจากแท้งมาหลายครั้งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สุดท้ายแล้วไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ ในบรรทัดสุดท้ายยังเป็นไทม์ไลน์เดิม คือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ทันเลือกตั้งปี 2570