
แก้รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นมหากาพย์ไปแล้ว ตอนที่พีกสุด ๆ น่าจะเป็นหลังปี 2562 ที่นำมาใช้กับการเลือกตั้งใหญ่เป็นครั้งแรก เกิดปัญหาการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จนสรุปผลการเลือกตั้งไม่ได้ พรรคใหญ่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเล็กตบเท้าเข้าสภากันอย่างคึกคัก
พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เข้าสภา พากันประกาศว่า จะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ และเข้าไปยื่นญัตติแก้ไขกันนับสิบฉบับ แต่ สว.ชุด 250 คน ผนึกแน่นไม่ยอมให้ผ่านสักร่าง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา ที่ประกอบด้วย สส.และ สว. แต่กำหนดว่า ถ้าจะแก้ไขวาระ 1 และ 3 ต้องมีเสียง สว.เห็นด้วย 1 ใน 3
กลายเป็น “ด่านหิน” ที่สกัดร่างแก้ไข จนถูกตีตกไปหมด ผ่านอยู่ประเด็นเดียว คือ แก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกกันระหว่าง “สส.เขต” และ “บัญชีรายชื่อ” จากเดิมให้ใช้บัตรใบเดียวกัน
ทำให้การเลือกตั้ง 2566 ราบรื่นมากขึ้น และ กกต.โดนด่าน้อยลง
แต่ภาระติดพันของพรรคต่าง ๆ ที่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้สำเร็จ ในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2570 ได้หรือไม่
สส.หลายคนที่มีจุดยืนประชาธิปไตยหลายคน แสดงความห่วงใย หลังจากเห็นท่าทีของพรรครัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและ สว.ชุดใหม่ ที่แสดงออกในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ
ที่ยืนยันให้ใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” จนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเข้ากระบวนการรออีก 180 วัน ค่อยกลับมาเข้าสภาใหม่
และมีแนวโน้มว่าจะทำให้การแก้ไข ทำไม่ทันในสมัยประชุมนี้
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เป็น 2 พรรคที่เอาจริงเอาจังผลักดันในเรื่องนี้ โดยวันที่ 13 ก.พ.นี้จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ. จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน
สส.ก่อแก้วระบุว่า หลังจากที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางอย่างต่อเนื่อง บางพรรคการเมืองและบางกลุ่มที่พยายามยื้อเวลา ข่มขู่และสร้างอุปสรรค เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกออกแบบมาให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ และถูกโค่นล้มได้ง่าย ส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ยาก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเป้าหมายให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยกำหนดให้ยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 (ว่าด้วยรูปแบบการปกครอง) และหมวด 2 (ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์)
อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากมีบางพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่ประกาศคัดค้านตั้งแต่ต้น โดยยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของร่างแก้ไขดังกล่าว
การผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย หากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดเลือกที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
“เท่ากับว่าพรรคดังกล่าวต้องการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับปฏิเสธภารกิจสำคัญที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อน ผมขอแนะนำให้พรรคนั้นถอนตัวจากการเป็นรัฐบาล” สส.ก่อแก้วระบุ
แม้ว่าจะเห็นแนวโน้มว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส.ที่มีอยู่ 500 คนอย่างไม่ยากนัก แต่ยังมีข้อสงสัยว่า สว. 200 คน จะสนับสนุนร่างแก้ไขนี้มากน้อยแค่ไหน
ถ้ารัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข อภิปรายกันแล้ว โหวตวาระ 1 แล้ว สว.เห็นด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 คนขึ้นไป ร่างแก้ไขนี้จะตกไป
ร่างจะตกไป แม้ว่าอาจจะมี สส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เห็นด้วยมากมายก็ได้
จุดนี้เป็นความไม่สมดุล ระหว่างตัวแทนประชาชน กับสมาชิกของสภาที่มาจากระบบการเลือกที่จำกัดการเกี่ยวข้องของประชาชน
เป็นกรรมวิธีที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จัดทำเอาไว้
วันที่ 13 ก.พ. จึงเป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อของความพยายามปรับปรุงกฎกติกาของการเมือง
ให้เป็นกฎกติกาที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง