
ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) กลายเป็นวาระที่ทำให้เกิด “สภาล่ม”
ภายหลัง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ได้ยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) โดยมีผู้เข้าร่วมลงชื่อรับรอง ทั้งจากฝั่ง สส. และ สว. โดยปรากฏว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สมาชิกแสดงตนนับองค์ประชุมเพื่อลงมติของญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) เนื่องจากมี สส. และ สว. บางส่วนวอล์กเอาต์ เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม
โดยมีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.04 น. นั้น ท่าทีของพรรคการเมืองต่าง ๆ หลังจากองค์ประชุมล่ม มีดังนี้
เพื่อไทย ยันไม่เตะถ่วงรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทย ที่มี สส.ร่วมลงชื่อในญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชน นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ แถลงภายหลังที่องค์ประชุมล่มขณะที่มีการพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
โดยนายสุทินว่า ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้ความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่ได้แก้ตามนโยบายที่เคยให้ไว้แล้ว โดยหลังจากที่เราพยายามยื่นมาหลายรอบ แต่เมื่อยื่นแล้วก็ยังมีข้อกังขาว่าประธานสภาจะบรรจุหรือไม่บรรจุ นั่นคือความคลุมเครือและเป็นปัญหามาตลอด รวมถึงรู้ดีว่าจะเป็นปัญหาต่อไป
นายสุทินกล่าวว่า เมื่อร่างดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่สภาแล้ว เราก็พยายามที่จะประสานกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ นั่นคือเสียงพรรคร่วมรัฐบาลและเสียงของ สว. เมื่อเราทำเต็มที่และขอความร่วมมือเต็มที่แล้ว จากการประเมินเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็พบว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านนั้นยาก มีโอกาสตกสูง ซึ่งเมื่อไม่มีโอกาส เราจะทำอย่างไร จะจำนนต่อสถานการณ์หรือไม่ เราจะเสนอและพิจารณากันไปแล้วปล่อยให้โหวตตกหรือไม่ หากทำเช่นนั้นนั่นคือความล้มเหลว ซึ่งเราทราบดีว่าความล้มเหลวรออยู่แล้ว
นายสุทินกล่าวต่อว่า ฉะนั้น เราจึงแสวงหาอีกวิธีที่พอจะมีความหวัง โดยขอให้ร่างได้ยังอยู่ในสภา คือเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างดังกล่าวก็ยังอยู่ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา เราก็มีโอกาสทำให้สำเร็จ เราก็จะเดินหน้า แต่หากผลออกมาแล้วไม่เป็นคุณ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาในทางที่บอกว่าแก้ไม่ได้ ก็จะได้ชัดเจนว่าแก้ไม่ได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็เกิดความเห็นที่ต่างกันอยู่ เช่น ต้องทำประชามติกี่รอบ และสมาชิกรัฐสภาก็เกิดความกังวลว่าหากพิจารณาและลงมติแล้ว จะถูกตัดสินหรือดำเนินคดีหรือไม่ เพราะมีตัวอย่าง
เหตุผลหนุนญัตติหมอเปรมศักดิ์
นายสุทินกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีสมาชิกจำนวนไม่น้อย ไม่มั่นใจในสถานะหากอยู่ประชุม ทางที่ดีคือยื่นศาลให้ตีความ ซึ่งเชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือน และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความมาแล้ว ความหวังเรายังมี วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. แต่เมื่อญัตตินี้แพ้ต่อสภาเราก็ต้องพิจารณากันต่อ ซึ่งเราก็มองเห็นคำตอบอยู่ข้างหน้าว่าเมื่อไปข้างหน้าก็ตก ฉะนั้น เราจึงปรับวิธีการต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลของเรา
“วันนี้จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างนี้ไม่ตกและให้อยู่นานที่สุด นั่นคือองค์ประชุม ถ้าไม่ครบก็ประชุมต่อไม่ได้ ก็จะมีเวลาในการตั้งหลัก เพื่อที่จะกลับมาสู้เพื่อเป้าหมายอีกครั้ง ดีกว่าดันทุรังไปว่าพิจารณาไปแล้ว แล้วไปตายข้างหน้า แบบนั้นเราไม่เอา เพื่อนสมาชิกบางคน บางพรรคอาจจะมองหรือเข้าใจเราผิด ยืนยันว่าเรามีเจตนาเพื่อที่จะผลักดันให้สำเร็จ ถ้าเดินทางตรงไม่ได้ ก็ขอเดินทางโค้ง หากทางโค้งยังไม่สำเร็จ ขอหยุดการเดินทางไว้ก่อนดีกว่าเดินไปตกเหว“ นายสุทินกล่าว
ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า ”ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาเตะถ่วง มีเพียงเจตนาเต็มที่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นนโยบายที่เราเสนอไว้และมีความพยายามจะทำอย่างนี้มาตลอด ย้ำว่าเราจึงสนับสนุนญัตติของหมอเปรมศักดิ์ โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วมีความชัดเจน เราจะได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้“
ปชน.จี้รัฐบาลรักษาองค์ประชุม
ส่วนท่าทีของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมกันของรัฐสภานี้ ตนอยากยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเต็ม ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งจากทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที
อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่รับวินิจฉัย ในข้อสงสัยเรื่องของการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว และการลงมติในญัตติแรก ที่จะมีการเลื่อนหรือไม่เลื่อน ในการพิจารณาว่าจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่นั้น ผลของการลงมติก็ออกมาแล้วว่า ให้รัฐเดินหน้าต่อในการพิจารณาร่างแก้ไขที่พรรคประชาชนได้เสนอเข้ามา แต่ปรากฏว่า ขณะที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในญัตติดังกล่าว ในการประชุมวาระที่หนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นี้ มีการเสนอให้นับองค์ประชุม ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภายู่ในห้องประชุม จากสายตาตนเชื่อว่า มีจำนวนมากกว่าคนที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะสั่งปิดการประชุม
ตามข้อเท็จจริงนี้ ตนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มีเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลเอง ไม่กดแสดงตน ไม่เป็นองค์ประชุม ทั้งที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้พูดไว้ในห้องประชุมว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้
“เป็นสิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาลเอง เนื่องจากผมเชื่อว่าถ้านายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมถึงสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ วันนี้เราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” นายณัฐพงษ์กล่าว
ขณะเดียวกัน ตอนนี้เราก็ได้รับข้อมูลมาเพิ่มเติมมาว่า ถึงแม้วันนี้จะมีการปิดประชุมเร็ว แต่ว่าในวันพรุ่งนี้ น่าจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่ง และมีการขอให้ลงชื่อเข้าไปร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการแถลงข่าวในครั้งนี้ ตนอยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ช่วยกำกับดูแล ในส่วนของเสียงฝั่งรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ ให้เป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพราะอย่างน้อย ๆ ตนคิดว่าการเห็นด้วยหรือการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256
อย่างไร ก็ควรจะต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน หากมีข้อกังวลกับการลงมติจริง ภายหลังการเปิดอภิปรายเสร็จแล้ว ค่อยมาตัดสินใจก่อนที่จะลงมติอีกครั้งก็ยังได้ ไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์อำนาจตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าไม่กล้าให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถอภิปรายในรัฐบาลแห่งนี้ได้
เมื่อถามถึง ความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากมี สส.ของพรรคเพื่อไทยหลายคนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายณัฐพงษ์กล่าวว่า มีร่างของพรรคเพื่อไทยเสนอเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นตนจึงยังค่อนข้างมีความสับสนว่า ในเมื่อมีร่างที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเสนอมาด้วย ทำไมถึงไม่มีการแสดงตนหรือว่าไม่มีการแสดงความชัดเจนว่าอยากจะเดินหน้าต่อในวันนี้
ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความตกลงกันไม่ได้ หรือความมีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำ และการควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันให้ได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีเอง จะแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมเสียงรัฐบาลได้จริง
ภูมิใจไทย หนุนแก้รายมาตรา
พรรคภูมิใจไทย โดย น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ทางพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ชอบธรรม และไม่สร้างปัญหาในอนาคต ในสมัยที่แล้วเราเป็นพรรคแรกที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรา 256 จนนำไปสู่การพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลที่เกิดขึ้น เรามองว่าการแก้ไขรายมาตราทำได้ทันที
แต่วันนี้เป็นการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าต้องทำประชามติถามประชาชนททั้งประเทศว่ามีความเห็นอย่างไร เราจึงมีการความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่าเป็นการขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราจึงไม่ขอมีส่วนร่วมในการพิจารณา
ปชป.หนุนยื่นศาลตีความ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคได้คุยกันเบื้องต้นและสรุปได้ดังนี้
1.พรรคสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ และจัดทำใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แต่ กระบวนการต้องชอบ 2.ถ้ามีผู้ใดเห็นว่าควรส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ยินดีสนับสนุน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหมดข้อถกเถียงในเรื่องนี้ไป จะได้ปฏิบัติได้ในอนาคต หรือที่เกี่ยวข้องกับในฉบับนี้ต่อไป
3.หากมีการพยายาม ที่จะให้โหวตวาระ 1 ให้ได้ ตนจะเสนอทางพรรคว่า พรรคควรแสดงตน แต่จะไม่ประสงค์ลงมติ เพื่อสะท้อนว่าเราก็มีเครื่องหมายคำถามเหมือนกัน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในการพิจารณาโดยที่ยังมีการทำประชามติก่อน
เปิดผลโหวตไม่เลื่อนญัตติ “หมอเปรม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติว่าจะเลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2) ก่อนที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
ผลการลงมติ ปรากฏว่าไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ ด้วยคะแนน 275 ต่อ 247 จากการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติพบว่าพรรคประชาชนเกือบทั้งพรรค ไม่เห็นด้วยที่ให้เลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อน มีเพียง สส. 6 คนที่ไม่ร่วมลงคะแนน
ประกอบด้วย นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สส.เชียงราย, นายณรงค์เดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม., นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ, นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ และนายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ลงมติเห็นด้วยให้เลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน มีเพียง สส. 12 คน ที่ไม่ร่วมลงคะแนน อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ และนายสุชาติ ตันเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่ร่วมลงคะแนนเกือบทั้งพรรค มีเพียงนายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น ที่ลงมติเห็นด้วย ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ลงมติเห็นด้วย 20 คะแนน ไม่ลงคะแนน 16 คน อาทิ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น สส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย 16 คน ไม่ลงคะแนน 9 คน โดยมีรายชื่อที่น่าสนใจ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคกล้าธรรมทั้งพรรคลงมติเห็นด้วย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ โหวตเห็นด้วย 1 คน ได้แก่ น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ ส่วนที่เหลือไม่ลงคะแนน
พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยครึ่งพรรค ที่เหลือไม่ได้ลงคะแนน และพรรคประชาชาติ ลงมติเห็นด้วยทั้งพรรค ยกเว้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ทำหน้าที่ประธาน และนายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.ปัตตานี ที่งดออกเสียง
ส่วนพรรคไทยสร้างไทยเห็นด้วย 2 คน ได้แก่ นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลราชธานี และ นางสุภาภรณ์ สลับศรี สส.ยโสธร ขณะที่นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด ไม่เห็นด้วย สส.ที่เหลือไม่ลงคะแนน
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตคือ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลงมติไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งมีจำนวนถึง 136 คน ไม่ร่วมลงคะแนน 26 คน งดออกเสียง 2 คน ที่เหลือเป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติดังกล่าว โดยกลุ่ม สว.ที่ลงมติไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ญัตติดังกล่าวไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนได้