
แพทองธาร ไม่เหนือความคาดหมาย หลังประชุมแก้รัฐธรรมนูญล่ม มอง ‘สส.-สว.-รัฐบาลผสม‘ คิดต่างกันได้ สวน ’ฝ่ายค้าน’ ไม่มีหน้าอย่างหลังอย่าง ย้ำจุดยืนเพื่อไทยไม่แก้หมวด 1-2
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงเหตุการณ์การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล่ม ว่าจะได้เห็นภายใต้การนำของตนทั้ง สส. และ สว. ก็คิดต่างกันได้ ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย
เมื่อถามต่อว่า พรรคฝ่ายค้านโจมตีพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคเพื่อไทยต่อเหตุการณ์สภาล่ม นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จริง ๆ แล้วเป็นกลไกทางรัฐสภา เมื่อทั้งสองสภามีความเห็นแตกต่างกันก็จะเป็นเช่นนี้ ถ้าเรื่องใดที่เห็นตรงกันก็จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้
เมื่อถามต่อว่า เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย คือการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใช่หรือไม่ เนื่องจากมี สส.บางส่วนลงชื่อสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรม เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค มีความเห็นว่าอาจจะต้องส่ง เพื่อที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย
เมื่อถามต่อว่า นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา จำเป็นที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องมีการพูดคุยกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรียอมรับว่า มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนจะมีการพูดคุยกันต่อหลังจากนี้หรือไม่ เพื่อให้การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลมีเอกภาพ นายกฯ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของแต่ละพรรค ที่เสนอมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และทราบอยู่แล้วว่า แต่ละพรรคนั้นเสนออย่างไร และได้มีการพูดคุยกัน และยอมรับว่ามีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน
เมื่อถามต่อว่า เมื่อเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา จำเป็นต้องปรับจูนกับความคิดเห็นของพรรครัฐบาลที่เห็นไม่ตรงกันหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า หลายเรื่องมีความคิดเห็นที่ตรงกัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลผสม จะมีความคิดเห็นเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เคารพสิทธิของกัน
เมื่อถามต่อว่า แม้ว่าฝ่ายบริหารจะสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นต่างกัน จะไม่เป็นปัญหาใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ทราบอยู่แล้วว่า มีความเห็นที่แตกต่างกัน
ส่วนกรณีดังกล่าวพรรคเพื่อไทย อาจถูกมองว่าหน้าอย่างหลังอย่าง เพราะตอนหาเสียงผลักดันการแก้ไขธรรมนูญ แต่เมื่อเข้าขั้นตอนสภา ก็ปล่อยให้เป็นไปตามระบบ น.ส.แพทองธาร ได้ย้อนถามว่าอย่างไรหรือคะ แล้วกล่าวต่อว่า ไม่ใช่หน้าอย่างหลังอย่าง เรายังยืนอยู่จุดยืนเดิม ไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ก็ผลักดันไป แล้วต้องใส่ความก้าวร้าวหรืออย่างไร ก็ไม่ได้ ฉะนั้นการรักษาไว้ซึ่งความสงบ และคุยกันด้วยเหตุผล แสดงจุดยืนทางประชาธิปไตยของตัวเองก็แค่นั้น
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการตอบคำถามถึงการวางแนวทางของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมร่วมรัฐสภาต่อวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)