
ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล เว้นภูมิใจไทย มีมติชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะไปทำความเข้าใจกับพรรคประชาชน ยอมรับอาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเนื้อหาจะแตกต่างจากฉบับ สว.
ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารือทางออกในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หลังที่ประชุมรัฐสภาล่ม วานนี้ (13 ก.พ.) จากเหตุองค์ประชุมไม่ครบ พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก จน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.เสนอญัตติยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยในการหารือมีตัวแทนจากทุกพรรคเดินทางมา มีเพียงพรรคภูมิใจไทยที่ไม่เข้าร่วมหารือ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ว่าการประชุมวันนี้เจตนาของฝ่ายต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย หรือต้องการจะล้มร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับ เราคิดว่าการพิจารณาในวันนี้ไม่ควรจะนำไปสู่การล้มอีก ซึ่งน่าเสียดายว่า ถ้าล้มไปก็จะเป็นปัญหา เราต้องเริ่มต้นใหม่
ซึ่งมองว่าการประชุมในวันนี้ ไม่ควรจะนำไปสู่การลงมติ อยากให้ร่างคงค้างในสภา โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนวันนี้จะมีการพิจารณาหรือไม่ เราคิดว่าหากจะนำไปสู่การพิจารณาก็ต้องมีการลงมติ ซึ่งถ้าลงมติก็ชัดเจนอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้ตีตกได้
ส่วนถ้าไม่ลงมติจะทำอย่างไร เพราะพรรคประชาชน และ สว.จะเดินหน้า หรือเช็กเสียงแล้วว่าพรรคร่วมจะชนะ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีชนะหรือแพ้ แต่หมายความว่า หากนำไปสู่การลงมติ ท้ายที่สุดร่างนี้จะตกไป และจะไปเริ่มใหม่ ซึ่งใช้เวลาอีกยาวนาน และเราก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร คิดว่าหนทางที่ดีที่สุดคือให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน
ส่วนที่พรรคประชาชนต้องการเดินหน้า และพรรคภูมิใจไทยไม่เอาเรื่องนี้นั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่าก็ต้องคุยกับพรรคประชาชนให้รู้เรื่อง ท้ายที่สุดหากเดินไปแบบนี้มันก็ตก แล้วเราจะเลือกอย่างไร สุดท้ายแล้วเรามาชะลอไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งประธานวิปรัฐบาลน่าจะเป็นผู้ไปพูดคุยกับพรรคประชาชน
ส่วนบรรยากาศในวันนี้จะเกิดเหตุองค์ประชุมล่มอีกหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เดี๋ยวเราจะไปร่วมเป็นองค์ประชุม และคุยให้เห็นว่า หากเราพิจารณาไปแบบนี้ มันก็ตก
ส่วนที่ทาง สว.ได้ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอยื่นตีความอีกหรือไม่ นายชูศักดิ์ยอมรับว่าอาจจะเสนอเป็นญัตติ เนื้อหาจะแตกต่างจากฉบับของ นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อให้เป็นญัตติให้รัฐสภาพิจารณา ส่วนจะเป็นมติของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น กำลังคิดอยู่
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ เพราะเคยยื่นไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ เพราะเคยวินิจฉัยมาชัดเจนแล้ว นายชูศักดิ์กล่าวว่ามันแตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะประธานสภาไม่ได้บรรจุวาระ แต่ครั้งนี้บรรจุวาระ และมีความขัดแย้งเกิดขึ้น คิดว่าศาลก็ควรจะรับ จุดใหญ่ใจความ ปัญหาคือหากข้อยุติในการบรรจุระเบียบวาระเช่นนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การทำประชามติสองครั้งได้หรือไม่ ถ้าตราบใดที่ไม่เคลียร์ปัญหานี้ จะตอนไหนก็วนกลับมาเหมือนเดิม เราก็คิดว่าอยากจะทำปัญหานี้ให้มันจบ