
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน หลังสภาล่ม ค้างวาระแก้รัฐธรรมนูญ จี้ “นายกฯ” ใช้อำนาจผู้นำยุบสภา หากไม่สามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาได้
ที่รัฐสภา พรรคประชาชน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ภายหลังองค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ต้องปิดประชุมต่อเนื่องเป็นวันสอง
โดยนายณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระการประชุมในวันนี้แทบจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเราคิดว่า ถ้าสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก็ยังพอมีโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 พวกเราเชื่อว่าการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีกระบวนการที่สามารถเดินทางอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม เพราะพวกเราก็ไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่จะสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ พวกเราเห็นแล้วว่า ช่วงระหว่างพักการประชุมมีคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไปหารือร่วมกัน เพื่อที่อย่างน้อย ๆ ถ้าสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลยังมีข้อกังวลเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย หรือกังวลว่า ถ้าเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมในครั้งนี้ อาจจะมีการพัวพัน หรือมีการฟ้องร้องไปถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ได้นั้น เราก็ยังควรเปิดโอกาสให้มีการหารือ หรืออภิปรายกันก่อน เพื่อให้สังคม หรือเพื่อนสมาชิกต่าง ๆ มีความเข้าใจมากขึ้น
แต่ผลปรากฏว่า ภายหลังจากการประชุมวิปร่วมกัน ในช่วงระหว่างพักการประชุมที่ออกมา เมื่อดำเนินการประชุมต่อนั้น พบว่าฝั่งรัฐบาลเองก็ยังเดินหน้าที่จะให้มีการนับองค์ประชุมต่อ จนนำมาสู่การที่สภาล่ม นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะพยายามเดินอ้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้
ดังนั้น สิ่งที่พวกเราเชื่อว่าเป็นทางออกในการเดินหน้าทางตรง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาดอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงจังตรงไปตรงมาต่อประชาชน
1.เรื่องของการขาดเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งพวกเรายืนยันว่า ถ้าก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจัง เดินหน้าอย่างเต็มที่ ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอเข้ามาก็ควรจะต้องถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่นี่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงร่างเดียว จนทำให้การประชุมทั้ง 2 วันที่ผ่านมานี้ พบกับเหตุการณ์แบบที่เป็นอยู่ คือไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
ตลอดจนเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่าน ก็มีการให้สัมภาษณ์นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แทบไม่เคยที่จะเข้าไปหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทย ในการจะพยายามผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเลย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน ว่าไม่ได้มีความจริงใจในการที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุต้องเดินอ้อม เพื่อที่จะไม่ทำให้สภาล่มนั้น ก็เป็นข้ออ้าง เพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น คนในพรรคเพื่อไทยเองก็มีการให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่มีเสียงโหวตจากฝั่งของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้ต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ และพอตั้งรับไม่ทัน ก็เลยหาเหตุผลอธิบายเฉพาะหน้า
2.การขาดความเป็นนิติรัฐ ซึ่งจะเห็นจากบรรยากาศในที่ประชุมที่มีสมาชิกรัฐสภาในหลายส่วนออกมาให้ความเห็นถึงข้อกังวลว่า จะมีการไปยื่นร้อง หรือมีผลพัวพันทางกฎหมายทีหลัง ในวันนี้เอง แม้แต่การที่เราจะขอให้มีการหารือ โดยยังไม่มีการเข้าญัตติการพิจารณา ก็ยังไม่เปิดโอกาสให้พวกเราหารือ ทั้ง ๆ ที่เวทีในการประชุมรัฐสภาควรจะเป็นเวทีที่ปลอดภัยที่สุด
“ประเทศเราไม่ได้ถูกปกครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เรากำลังอยู่ภายใต้การปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ และสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตีความเอง กล้าใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายหากจะทำอะไร เพื่อผลประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องประชาชน ก็ต้องวิ่งกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน” นายณัฐพงษ์กล่าว
3.การไม่เคารพเสียงของประชาชน ซึ่งนโยบายในการหาเสียงของทุกพรรคในช่วงเลือกตั้ง ก็มีข้อเสนอแบบเดียวกัน ว่าจะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเช่นเดียวกัน
“ดังนั้น วิธีในการหาทางออกเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลมีความจริงจังที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯ เป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา นายกฯ สามารถที่จะเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถที่จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้” นายณัฐพงษ์กล่าว
เพราะฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 วันที่ผ่านมา ตนอยากยืนยันว่า นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายพริษฐ์กล่าวเสริมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ พรรคไหนจริงจังจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนเรายืนยันว่า เราต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้เรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น และทำให้ผู้แทนราษฎรนั้นสามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุด ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
แน่นอน ตนเข้าใจดีว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จนั้น มีบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้ชัดเจน ว่าจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่สำคัญก็คือ 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเราจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยได้ให้เหตุผลถึงความกังวลใจ หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขในวันนี้ และมีการลงมติ อาจจะไม่ได้รับสิ่งสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.บางส่วนที่หลายคนวิเคราะห์ว่า อาจจะมีชุดความคิดคล้าย ๆ กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจไม่ลงมติ หรือมีแนวโน้มจะไม่ลงมติเห็นชอบ เพราะเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย
แต่ตนอยากจะชวนสังคมและประชาชนตั้งคำถาม ว่าสาเหตุของอุปสรรคที่เราไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริง ๆ หรือเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
หากเชื่อว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้ว คือข้อกังวลทางกฎหมาย ในมุมหนึ่ง พรรคประชาชนก็ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย 4/2564 และหากวันนี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้เราสามารถประชุมต่อได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมกันชี้แจงกับสังคมและสมาชิกรัฐสภา ว่า ทำไมสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้น ร่างแก้ไขของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ในอีกมุม คนก็เข้าใจว่าเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่อาจจะเสนอส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งพรรคประชาชนเราเพียงแต่ตั้งข้อสังเกต ว่าหากมีการส่งเรื่องไปจริง ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าฝ่ายที่ส่งไปนั้นจะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากเคยมีการส่งเรื่องไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว 2 ครั้ง
“หลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นต้นเหตุและสาเหตุของการที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ สส.พรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบต่อการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
หากพรรคเพื่อไทยจะบอกว่า การมีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ทำให้ สส.พรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนั้นเห็นชอบ แล้วเหตุใดเจ้าตัวเขาเองก็ถึงไม่มาลงมติเห็นชอบเพื่อส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ ว่าต้นตอและสาเหตุคือความขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็น ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่กับเรื่องอื่น ๆ ด้วย”
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนจะเดินต่อไปอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนเหตุการณ์กลับไปในภาพรวม ถ้าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนงในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาจะต้องมีการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่านายกรัฐมนตรีจะต้องแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องนี้
นายพริษฐ์กล่าวเสริมโดยแยก 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรก เราไม่เห็นถึงเหตุผล หรือความจำเป็นที่ต้องยุติการประชุม เพราะมีนัดประชุมรัฐสภาแล้ว หากกังวลว่า เมื่อเข้าญัตติแล้วปลายทางเมื่อมีการลงมติ เสียงสนับสนุนจะไม่เพียงพอ ก็ไม่เป็นประเด็น เพราะเราสามารถเดินหน้าอภิปรายต่อได้
ซึ่งเมื่อถึงขั้นที่ต้องลงมติ และมีความกังวลใจ ก็เข้ามาหารือกันได้อีกครั้งหนึ่งว่าจะเลื่อนการลงมติออกไปหรือไม่ เพราะเราไม่เข้าใจเหตุผลที่จะเสียเวลา 2 วันเต็ม ๆ แทนที่เราจะได้ใช้พื้นที่รัฐสภาเพื่อสื่อสารกับประชาชนที่รอฟังอยู่ และการที่บทสัมภาษณ์ของนายอนุทินและนายกรัฐมนตรีที่แตกต่างนั้น ตนขอฝากคำถามกับสื่อมวลชนไปด้วยว่า “ตกลงใครพูดจริง”
ส่วนการหารือของวิปเมื่อช่วงเช้าก่อนการประชุมนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อและประธานวิปฝ่ายค้าน จะชี้แจงผ่านทางโซเชียลมีเดียอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุควรชะลอ เนื่องจากหากปล่อยให้โหวตจะตกเหว นายพริษฐ์ระบุว่า หากจุดหมายปลายทางการอภิปรายยังไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาได้ มองซ้ายมองขวาไปแล้วเห็นว่าจำนวน สว.ที่เข้าห้องประชุมมีไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ที่เพียงพอต่อการจะทำให้สามารถผ่านวาระ 1 ได้นั้น ก็สามารถหารือกันได้ว่าจะเลือกการลงมติต่อหรือไม่ ถ้ากังวลใจเรื่องการลงมติ ตามการใช้คำพูดของพรรคเพื่อไทย คือลงเหว ก็ยังไม่ต้องลงมติก็ได้ แต่ควรให้มีการอภิปรายต่อไปก่อน
“คำถามที่ต้องถามกลับไป ถ้าเราเห็นว่าการเดินตรงมีเหว มีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า แล้วที่ผ่านมา ท่านนายกฯ เห็นไหม ได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง ในการพยายามคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเคลียร์อุปสรรคนี้”
เมื่อถามว่าหากมีการส่งคำร้องอื่นที่ไม่ซ้ำกับ สว. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายพริษฐ์กล่าวว่า เราศึกษาข้อมูลกฎหมายมาแล้ว พรรคประชาชน ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สามารถเดินหน้าได้เลย ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องชะลอเรื่องนี้ไว้ โดยการส่งไปศาลก่อน
ส่วนมั่นใจหรือไม่ว่าหากเลื่อนการลงมติจะผ่าน นายณัฐพงษ์มองว่า คำว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าให้ตนตอบตามข้อเท็จจริงตามระบบของการเมืองปัจจุบัน แน่นอนปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือฝั่งของพรรคภูมิใจไทย และต้องตอบอย่างตรงไปตรงมา ว่าอาจจะไม่ผ่าน มีแนวโน้มสูง
ส่วนความกังวลเรื่องเสียง สว.นั้น นายณัฐพงษ์มองว่าสุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของการควบคุมเสียงทั้งฝั่งรัฐบาล ถ้าพรรคเพื่อไทยยืนยันจริง ๆ ว่าสิ่งที่พรรคต้องการในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือความชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปเชิญชวนพรรคภูมิใจไทยให้มาลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ