
การประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 ก.พ. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ล่มไปตามระเบียบ
ด้วยความเห็นที่แตกต่าง สุดท้าย สว.ขอนับองค์ประชุม
ประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา เลยสั่งปิดประชุม
แนวโน้มชัดว่า เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเป็นซีรีส์ยาว
ที่พูด ๆ กันว่า หากสภาอยู่ยาวจนครบวาระ และมีการเลือกตั้ง 2570 จะเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง
ในวันประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 13 ก.พ.ที่ว่า นักข่าวรายงานว่า น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ เขต 4 และรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มานั่งอยู่กับกลุ่ม สส.พรรคกล้าธรรม
นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา เหรัญญิกพรรค และ นางรัชนี พลซื่อ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค
บรรยากาศเป็นไปอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส
และยังมีรายงานของนักข่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการประชุมพรรค พปชร. เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.พ. ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธานในที่ประชุม
ปรากฏว่ามี สส.ของ พปชร.เองเข้าร่วมอย่างบางตามาก
ในวันนั้น สส.กาญจนาไม่ได้มาร่วมประชุม ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่คือกลุ่มยุทธศาสตร์พรรค ที่ไม่ได้เป็น สส.
รวมถึงอดีตผู้สมัคร สส.ของพรรคที่สอบตกในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เท่านั้น
สะท้อนอาการถอยร่นของพรรค พปชร. ที่เคยรุ่งเรืองขีดสุดในปี 2562
การเลือกตั้ง 2562 ครั้งแรกหลังการครองอำนาจอย่างยาวนานของคณะรัฐประหาร 2557
และครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวสำหรับ สส.เขตและบัญชีรายชื่อ
พรรคเพื่อไทยที่แบ่งร่างเป็นพรรคไทยรักษาชาติและถูกยุบ ได้ สส. 136 ที่นั่ง ส่วนพรรค พปชร.เข้ามา 116 เสียง
แต่คะแนนเสียงรวม พปชร.ได้ประมาณ 9 ล้านเสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 7 ล้านเสียง
พปชร.เป็นแกนนำ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลผสม
ในระหว่างเวลา 4 ปีของรัฐบาล จาก 2562-2566 เกิดเรื่องราวมากมาย
ทั้งเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จาก นายอุตตม สาวนายน จากกลุ่ม 4 กุมาร เป็น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ในปี 2563
ในเดือน ก.ย. ปี 2564 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รมต. รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ มีกระแสข่าวว่าจะมีการโหวตล้มนายกฯ ตู่ เพื่อผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นนายกฯแทน
ทีมผู้สนับสนุน พล.อ.ประวิตรเดินเกมอย่างจริงจัง ทำให้คะแนนไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาน้อยกว่าคนอื่น ๆ
จึงเกิดการปลด รมต.พ้นจากตำแหน่ง 2 คน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มีพรรค พปชร.เป็นแกนนำก็สามารถอยู่จนครบเทอมในปี 2566 และเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่
แต่ พล.อ.ประยุทธ์แยกตัวไปเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรครวมไทยสร้างชาติ
ผลการเลือกตั้ง 2566 พปชร.ได้รับเลือกตั้งมา 40 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติได้ 36 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคอันดับ 5 และ 6
อันดับ 1 คือพรรคก้าวไกล 151 อันดับ 2 เพื่อไทย 141 เสียง
หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์วางมือจากการเมือง
และร่วมสนับสนุนแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ พล.อ.ประวิตรได้รับเสียงเชียร์จากคนใกล้ชิดให้เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ
แต่รวมเสียงไม่ได้เพียงพอ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพปชร. สนับสนุนนายเศรษฐา
และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปในที่สุด
แต่เมื่อนายเศรษฐาพ้นตำแหน่งนายกฯ ในเดือน ส.ค. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งแทนและตั้งรัฐบาลใหม่
ไม่มีชื่อ พปชร.ร่วมรัฐบาล แต่มี “พรรคกล้าธรรม” ที่มี สส. 24 คนมาแทน
โดยมี รมต. 3 คน นำโดย น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรค นั่ง รมว.เกษตรฯ
พปชร.ภายใต้ พล.อ.ประวิตร ต้องเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
พปชร.จะเหลือ สส.กี่คน จาก 40 คนหลังเลือกตั้ง และถูกหั่นครึ่งจากการเกิดขึ้นของพรรคกล้าธรรม
ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผลิตผลของรัฐประหาร 2557 ยังเหนียว แก้ไขไม่ได้ แต่อีกผลิตผลของรัฐประหาร 2557 คือพรรค พปชร.ถดถอยอย่างมาก
รัฐธรรมนูญ 2560 คงยังมีผลในการเลือกตั้ง 2570 แต่ในปีนั้น พรรค พปชร.จะเป็นอย่างไร ยังรอคำตอบ