
สภาเตรียมพิจารณากฎหมายคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติปี 2515 ปลดล็อกเวลาห้ามขายช่วงบ่าย 2-5 โมงเย็น ตั้ง 2 บอร์ดนโยบาย-บอร์ดควบคุมระดับจังหวัดมีอำนาจคุมได้เอง พร้อมรื้อเกณฑ์โฆษณาเครื่องดื่ม บอกสรรพคุณ-ส่วนผสมได้ แต่ห้ามชี้ชวนดื่ม หวังหนุนท่องเที่ยวไฮซีซั่น รมว.สาธารณสุขขอรับฟังความเห็นทุกฝ่าย
จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการแก้ข้อจำกัดทางกฎหมายในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังได้รับร้องเรียนจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และไม่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวธีมอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ทัวริซึ่ม แอนด์ สปอร์ตเยียร์
โดยศึกษาเรื่องการห้ามขายในเวลา 14.00-17.00 น. หรือวันทางพุทธศาสนาว่า มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง รวมถึงการห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการติดขัดการควบคุมเป็นโซนนิ่ง ซึ่งกฎบางกฎก็ออกมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 หรือตั้งแต่ปี 2515
“ที่ห้ามไว้คือช่วง 14.00-17.00 น. ส่วนวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะให้ทีมศึกษาดูก่อน เพราะอย่างวันพระใหญ่ หรือวันที่ห้ามนั้น ชาวต่างชาติเขาไม่ทราบก็มีผล เพราะธีมปีนี้เน้นเรื่องการท่องเที่ยว ต้องพิจารณาอีกครั้ง”
ผ่า กม.คุมเครื่องดื่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระที่ 2 และ 3 โดยเป็นการปรับแก้จาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปลดล็อกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวลาห้ามขาย การจัดจำหน่าย ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ 14 ชั่วโมง รวมถึงการแก้ไขเรื่องการโฆษณา
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีมานานกว่า 53 ปี คือห้ามมิให้ผู้ใดดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุรานอกจากตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. หรือดื่มสุราในสถานบริการนอกเวลา ปิดทำการของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
ทั้งยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เฉพาะข้อ 6 (ห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา)
นายกฯนั่งบอร์ดนโยบาย
โดยโครงสร้างกฎหมายให้มี “คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” หรือบอร์ดนโยบายกำหนดกรอบภาพใหญ่ทั้งประเทศ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน
ส่วนกรรมการมี รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รมว.กระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 มีกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน อาทิ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รมว.กระทรวง อว. รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ รมว.กระทรวงพาณิชย์ รมว.กระทรวงมหาดไทย รมว.กระทรวงยุติธรรม รมว.กระทรวงศึกษาธิการ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม
บอร์ดนโยบายชุดนี้มีอำนาจกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้านภาษี ฯลฯ ตลอดจนการบำบัดรักษาและหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเสนอต่อ ครม.เพื่อการเห็นชอบ
ในแง่กลไก “กำกับ” ระดับรองจากบอร์ดนโยบาย ให้มี “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” มี รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ต้องประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีอำนาจเช่นเดียวกับบอร์ดนโยบาย หลังประชุมก็เสนอบอร์ดนโยบายที่มีนายกฯเป็นประธาน ตัดสินใจในภาพใหญ่
ให้อำนาจจังหวัดคุม
ส่วนการควบคุมแต่ละจังหวัดนั้น ให้มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ เสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละจังหวัด รวมถึงให้มีแผนงานในระดับจังหวัดเพื่อการดำเนินการดังกล่าว
กำหนดแนวทางปฏิบัติในการลดและเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนไปเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขายผ่านตู้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังปลดล็อกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติได้ ยกเว้นเครื่องขายอัตโนมัติที่ยืนยันตัวตนผู้ซื้อได้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมกำหนด
ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่เป็นการกระทำ โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขาย เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม อย่างน้อยต้องประกอบด้วยเรื่องดังนี้
1.การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ มาตรฐาน ส่วนประกอบ หรือแหล่งกำเนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่มีลักษณะการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.เป้าหมายต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี 3.การไม่ใช้ช่องทางการสื่อสารที่แพร่หลายหรือประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยสะดวก 4.การไม่อ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง หรือทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5.การกำหนดให้มีข้อความคำเตือน
มีผลบังคับใช้กลางปี
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา วันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ เราต้องการไทม์ไลน์ สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีแถลง
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกเวลาห้ามขาย 14.00-17.00 น. หากกฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ อำนาจจะอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายที่มีนายกฯเป็นประธาน เป็นผู้ออกนโยบายครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะปลดล็อกอย่างไรขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดเป็นผู้พิจารณาเอง
คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาประมาณกลางปีนี้ ตั้งเป้าจะปลดล็อกการขายทั้งหมดในไตรมาส 4 ในช่วงไฮซีซั่นฤดูท่องเที่ยว ส่วนการปลดล็อกเรื่องโฆษณาจะทำให้รายเล็กรายย่อยโฆษณาได้ แต่ห้ามชวนดื่ม
รมว.การท่องเที่ยวฯหนุน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ดีในมุมท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่รู้ว่าเวลาไหนขายเหล้าได้-ไม่ได้ วันไหนวันพระใหญ่ที่ห้ามขาย หากมาไทยช่วงวันพระใหญ่ เขาก็แจ็กพอต ต้องดูความเหมาะสม
“เราเน้นเมืองน่าเที่ยวหรือเมืองรอง ต้องดูตรงนี้เป็นหลักด้วย ไม่ได้ตะบี้ตะบันอยากได้แต่เงิน ต้องดูโดยรวม รวมถึงสถานบันเทิง เรามีการแก้ไขเวลาปิดเปิดด้านโซนนิ่ง ทำให้ถูกกฎหมายดีกว่า” นายสรวงศ์กล่าว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ต้องศึกษารอบด้าน ทั้งด้านสุขภาพ ความปลอดภัยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้
เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอดีตกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการดื่ม ซึ่งออกมาหลายปีจะมีข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น สถานบริการต้องอยู่ห่างไกลจากวัด จากโรงเรียนตามขอบเขตกำหนด วันนี้สถานการณ์เรื่องพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลง ประกอบกับมีเรื่องท่องเที่ยวเข้ามาจึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน