
คอลัมน์ : Politics policy people forum
รัฐธรรมนูญ 2560 อันถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นร่างเงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เกิดขึ้นและดำรงอยู่ตั้งแต่ประกาศใช้ปี 2560 จนถึงเวลานี้เป็นเวลาเกือบ 8 ปี แก้ไขสำเร็จแค่ครั้งเดียว ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง
ส่วนความพยายามในการแก้ไขมาตราอื่น ๆ พบว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการชงแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด 6 ครั้ง 26 ฉบับ ถูกตีตกทั้งหมด 25 ฉบับ
มาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ ที่เข้าสู่การพิจารณาครั้งล่าสุด เมื่อ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 แต่แทบจะถึงทางตัน เมื่อเกิดเหตุที่สภาล่มทั้ง 2 วัน ต่อไปนี้คือ ไทม์ไลน์ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญในยุคเพื่อไทย
ย้อนไทม์ไลน์ รธน.
นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เว้นหมวด 1 หมวด 2 เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทย มีตั้งลูกตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธาน ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 3 ตุลาคม 2566
25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการได้ข้อสรุปเรื่องคำถามประชามติ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และจะเสนอ ครม.ช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
ยื่นศาล รธน.ตีความรอบที่ 1
1 กุมภาพันธ์ 2567 พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ 2 ฉบับ เนื่องจากกฎหมายประชามติ 2564 ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเกรงว่าประชามติรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน จึงต้องมีการ “ปลดล็อก” ประชามติ 2 ชั้น
29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องทำประชามติกี่ครั้ง หลังจากเกิดการถกเถียงเรื่องการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง เพราะคำร้องดังกล่าวเป็นเพียงข้อสงสัย และศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไว้ละเอียดแล้ว
ครม.เศรษฐา โหวต 3 ครั้ง
23 เมษายน 2567 ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการทำประชามติ 3 ครั้ง
28 พฤษภาคม 2567 ครม.อนุมัติร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ “ฉบับรัฐบาล”
18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมสภาได้รับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติรวม 4 ฉบับคือ ของ ครม. ของพรรคเพื่อไทย ของพรรคก้าวไกล และของพรรคภูมิใจไทย และเข้าสู่การแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ
ชุลมุน กม.ประชามติ
21 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 409 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการปรับแก้ จากการที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นใช้เสียงข้างมากธรรมดา ชั้นเดียว
30 กันยายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา เสียงข้างมาก 164 ต่อ 21 เสียง มีมติแก้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากการใช้เสียงข้างมากธรรมดาชั้นเดียว กลับมาเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยมีกลุ่ม สว.สายสีน้ำเงินเป็นตัวหลัก
9 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติของ สว.ด้วยมติ 348 ต่อ 0 เสียง และเสนอชื่อการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณาร่วมกัน
21 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา โหวตยืนยันการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติของ สว. ยืนยันเสียงข้างมาก 2 ชั้น และเสนอชื่อการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. ในฝ่ายของ สว.
20 พฤศจิกายน 2567 เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม สส.-สว. เห็นชอบตามร่างที่แก้ไขให้กลับไปทำประชามติเสียงข้างมาก 2 ชั้น
13 ธันวาคม 2567 พรรคประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
เตะถ่วง 180 วัน
18 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. โดยใช้สิทธิยับยั้งกฎหมาย 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 เพื่อยืนยันร่างฉบับของ สส.
23 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา มีมติว่าให้ประธานรัฐสภาสามารถบรรจุวาระร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้
8 มกราคม 2568 พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เช่นกัน
ประชุมสภาป่วน
10 กุมภาพันธ์ 2568 ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ มีคนเตรียมชงญัตติส่งศาลวินิจฉัย ต้องทำประชามติก่อนพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ “เป็นใครเราก็รู้ ๆ กันอยู่ ทั้งวุฒิสภาและพรรคการเมือง ผมได้ยินมาเป็นเช่นนั้น”
11 กุมภาพันธ์ 2568 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กลุ่มสีขาว ได้แจ้งหมายข่าวต่อสื่อมวลชน จะยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้รัฐสภามีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
12 กุมภาพันธ์ 2568 พรรคภูมิใจไทย มีมติไม่ร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 โดยระบุว่าเป็นการพิจารณาที่อาจขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมาย
13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมรัฐสภามีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และหมวด 15/1 เป็นวันแรก แต่เกิดความปั่นป่วนขึ้นในการพิจารณา เมื่อ นพ.เปรมศักดิ์ได้ยื่นญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งปรากฏว่าแกนนำพรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมลงญัตติในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของ นพ.เปรมศักดิ์ด้วย ซึ่งในทีมล็อบบี้ของพรรคเพื่อไทยได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า
โดยระหว่างการประชุม มีการเสนอให้เลื่อนเป็นญัตติด่วนที่จะพิจารณา แต่ปรากฏว่าพรรคประชาชน บวก สว.สีน้ำเงิน ชนะการโหวตไม่ยอมให้เลื่อนญัตติขึ้นมาพิจารณา ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยเดินออกจากห้องประชุมไม่ร่วมการพิจารณาในวาระนี้ เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยต้อง “แก้เกม” ด้วยการล้มองค์ประชุม ทำให้สภาล่ม
14 กุมภาพันธ์ 2568 องค์ประชุมรัฐสภาล่มลงอีกครั้ง โดยที่ สส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม
ที่สุดแล้ว แผนของพรรคเพื่อไทยคือการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ตีความ” เพื่อให้พิจารณาว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ก่อนจะลงมือแก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 คือจุดสูงสุดของอำนาจการเมือง ที่ทุกฝ่ายในกระดานอำนาจล้วนเดินตาม “ดีล” จึงกลายเป็น “หมากต้องห้าม” ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ถ้าไม่แก้ก็โดนถล่ม ถ้าแก้ก็เกิดความเสี่ยงไม่เป็นตามดีล เกมแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นของร้อนรัฐบาลเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้