แพทองธารตั้งเป้าจีดีพี 68 โต 3% โชว์ตัวเลขต่างชาติลงทุน 1.14 ล้านล้าน

นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าจีดีพีปี’68 โต 3% เร่งลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ดาต้าเซ็นเตอร์-ชิป โชว์ FDI เพิ่มขึ้น 35% เป็นการเติมเงินครั้งใหญ่ให้ประเทศ จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย ช่วยประชาชน ตอนนี้เงินเฟ้อยังน้อย

ที่ Ballroom 1 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “เชื่อมั่นประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า ตลอดปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญปัญหาความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยดีนัก เงินในระบบไม่พอ ยังมีความฝืดเคืองอยู่มาก

แต่ด้วยความร่วมมือนะคะของทุกภาคส่วน ทำให้เราได้เห็นสัญญาณอันดีมาก ๆ ปลายปี 2567 เราก็มีเศรษฐกิจ มีตัวเลขจีดีพีของปี’67 ขยายตัวขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ เร่งจากการขยายตัวเดิมที่วางไว้คือ 2% ตั้งแต่ปี’66

จีดีพี 68 โต 3%

เห็นได้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว และที่สำคัญที่สุดที่ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ เกิดขึ้นจากหลาย ๆ ภาคส่วนร่วมกัน ตั้งแต่ฟรีวีซ่าที่เราได้ประสานกับหลาย ๆ ประเทศ เพื่อจะให้การท่องเที่ยวนั้นเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และรวมถึงเรื่องความเชื่อมั่นความมั่นคง ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วปลอดภัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจากทั่วโลก

สำหรับในปี’68 ตั้งเป้าหมายให้จีดีพีเติบโตขึ้นที่ 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐก็มีส่วนในการช่วยผลักดันเรื่องนี้ ในการใช้งบฯ ลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยตนได้เรียกทุกภาคส่วนมาคุยกันว่างบประมาณต่าง ๆ อยากให้เกิดการลงทุนให้เร็วที่สุด เช่น การสร้างสะพาน การลงทุนก่อสร้างต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการจ้างงาน เงินในระบบก็จะเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องเร่งในเรื่องของการลงทุนของภาครัฐด้วย

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพีของไทย 2.5% ซึ่งมีการนำตัวเลขดังกล่าวไปเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เห็นข่าวกันบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่ได้มีการดูรายละเอียดในเรื่องของปัจจัยภายในและภายนอกประกอบกัน เพราะฉะนั้นตัวเลขนี่ก็ถือว่ายังไม่ครบในเรื่องของการดู ดูแลปัจจัยในปัจจัยภายในและภายนอกของประเทศ

เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

เช่น เรายังไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมายาวนานแล้ว ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการพัฒนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่องมายาวนาน ของเรา 10 กว่าปีไม่มีในเรื่องนี้ ประเทศเวียดนามมีการพัฒนาในเรื่องของสกิลของคนในเรื่องของการเขียนซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ทำให้ประชากรเขามีความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนของไทยยังไม่ได้พัฒนาที่เป็นรูปแบบอย่างเต็มระบบ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากธนาคารก็ยังปล่อยกู้ไม่มากพอ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ SMEs ซึ่งเป็น 75% ของประเทศ เมื่อ SMEs เหล่านี้เขายังไม่สามารถมีสินเชื่อ ไม่สามารถกู้เงินที่จะมาพัฒนาธุรกิจ เราจึงยังเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ส่วนภาครัฐงบประมาณยังไม่เพียงพอ รายได้ส่วนใหญ่ที่รัฐบาลได้ก็จะถูกใช้ไปในเรื่องของงบฯประจำส่วนใหญ่ รายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้นการเหลืองบฯที่จะเอามาลงทุนเพื่อให้เกิดเม็ดเงินในประเทศมากขึ้นก็เหลือน้อยเต็มที แม้พยายามจะบอกทุกคนว่าให้รัดเข็มขัดในเรื่องของงบประมาณ แต่เราก็ต้องลงทุนควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือการต้องทำให้เม็ดเงินต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สิ่งนี้ต้องบาลานซ์ให้ดีมาก ๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาต่อมาในอนาคตแน่นอน เงินกู้เพดานกู้ก็แทบจะไม่เหลือแล้ว รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารก็เจอปัญหาเหล่านี้ แต่แน่นอนเราก็พยายามหาทางออกในมุมต่าง ๆ เพื่อจะให้เงินลงทุนทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โชว์ตัวเลขลงทุน 1.14 ล้านล้าน

นอกจากนี้ การยังไม่มีการทำการตลาด เพื่อดึงจุดแข็งของประเทศไทย ในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ พอการลงทุนจากต่างชาติไม่เข้ามา การขยับของจีดีพีก็เป็นไปได้ยากมากขึ้น แต่รัฐบาลทราบดีว่าปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่รัฐบาลของท่านนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา คือส่วนที่รัฐบาลทำได้ร่วมกับบีโอไอ ซึ่งต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนต่างชาติก่อนเพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มีตัวเลขของบีโอไอ มียอดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท เป็นเม็ดเงินมากกว่า 5% ของจีดีพี พร้อมเร่งให้เม็ดเงินเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เป็นสิ่งที่ขยับแล้วและเห็นผล

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า รวมถึงเรามีมาตรการอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสินเชื่อเพื่อ SMEs การดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้าสู่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้จะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเติมเงินครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศเราได้

เดินหน้าท่องเที่ยวแมนเมด

น.ส.แพทองธารกล่าวต่อว่า นอกจากการเติมเงินแล้วยังจะเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวและเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากคือ การสร้าง Man-made Destination เพื่อดึงดูดสถานที่ใหม่ใหม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งตอนนี้มีการแพลนกันอยู่ในเรื่องการสร้าง Man-made Destination ในทุกจังหวัดให้ต่อเนื่องกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นจังหวัดหลักเท่านั้น เป็นเมืองรองด้วย เพราะอยากให้ทุกจังหวัดเกิดการท่องเที่ยว โดยจะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการที่จะสนับสนุนเทศกาลต่าง ๆ นี่เป็นแพลนที่รัฐบาลกำลังคิดอยู่ และเมื่อเห็นผลเมื่อไหร่จะรีบรายงานให้ประชาชนทราบ

จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย

“เราไม่อยากให้มีโลว์ซีซั่น เพราะอยากให้ทุกเดือนของประเทศไทยสามารถเที่ยวได้ แต่เราจะต้องนำมาตรการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในทุกส่วน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เรามีทั้งมาตรการที่เป็นระยะเร่งด่วน

ซึ่งรัฐบาลได้มีการพูดคุยและขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ที่ตอนนี้มีกำไรเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยการปล่อยกู้ให้กับคนไทยได้มีเครดิตเพื่ออัพเกรดธุรกิจของตัวเอง รวมถึงการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เพราะเงินเฟ้อยังน้อยอยู่” น.ส.แพทองธารกล่าว

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในอนาคตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่ประเทศของเรามองเป็นเป้าหมายไว้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รถอีวีต่าง ๆ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเป็นหลักฐานดิจิทัลต่อไปในอนาคต

โดยในส่วนนี้เราพยายามที่จะวางตัวให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งคนที่จะมาประดิษฐ์รถอีวีต่าง ๆ ก็สามารถที่จะมาวางรากฐานการผลิตที่ประเทศไทยได้

แม้ตอนนี้จะมีโรงงานของหลายประเทศเริ่มทยอยเข้ามาแล้ว เราจะต้องปรับเปลี่ยนเรื่องของธุรกิจเป็นอีวีมากขึ้น โดยเราจะต้องดูในเรื่องของพลังงานสีเขียวควบคู่ไปด้วย เพราะธุรกิจแห่งอนาคตก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องใช้พลังงานอย่างมาก ฉะนั้น พลังงานสีเขียวจะทำให้ทั่วโลกเล็งเห็นด้วยว่าเรากำลังจะก้าวต่อไปกับอุตสาหกรรมในอนาคต

บิ๊กเทค แห่ลงทุนไทย

น.ส.แพทองธารกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส จากบริษัทชั้นนำทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย รวมเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็เพิ่งอนุมัติการลงทุนของ TikTok มี NVIDIA คลาวด์พาร์ตเนอร์ กว่า 1.3 แสนล้านบาท ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เรามีบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนกับเรา และเราจะต้องทำให้ประเทศไทยมีความเชื่อมั่นต่อไปในเรื่องนี้ เพื่อที่การลงทุนต่าง ๆ จะได้เป็นไปอย่างราบรื่น

ที่สำคัญขณะนี้คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย ลาว จีน เชื่อมโยงกรุงเทพฯกับหนองคาย ซึ่งเมื่อรถไฟเส้นนี้เสร็จลงแล้วก็จะช่วยให้ลดระยะเวลาในการขนส่งได้บ้าง

รวมถึงจะลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เมื่อต้นทุนถูกผู้ประกอบการก็มีโอกาสที่จะทำกำไรได้เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือทางเชื่อมใหม่ ๆ ก็จะทำให้มีทราฟฟิกของการเข้ามาในประเทศนั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น มีอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าประชาชนจะมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

เดินหน้าแลนด์บริดจ์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต่อไป เพื่อจุดประสงค์คือการลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง นอกจากจะสามารถลดระยะเวลาขนส่งสินค้าได้แล้ว ยังสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนได้ไปเยือนประเทศจีนมา รัฐบาลจีนก็บอกว่าสนับสนุนพร้อมทั้งขอข้อมูลเพิ่ม และยังสนใจการลงทุนด้วย โดยเราจะต้องทำงานต่อ

น.ส.แพทองธารกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เราพร้อมที่จะรับฟังทุกความคิดเห็นแม้จะเห็นต่าง เพราะเราไม่อยากแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น เช่น เรื่องน้ำท่วมที่เราได้มีการเบิกค่าเยียวยาทุกปี ซึ่งการเยียวยาถือเป็นเรื่องที่ดีแต่จะดีกว่าหากไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น

ฉะนั้น ตนจึงคิดว่าหากเรามองเห็นภาพใหญ่ว่าเรายอมลงทุนมากหน่อย แล้วต่อเนื่องให้จบ ประชาชนในพื้นที่นั้นก็อาจจะไม่ต้องประสบปัญหาในส่วนนี้ นี่ถือเป็นการลงทุนอีกด้าน ที่แม้เราจะรัดเข็มขัดแล้ว แต่เราก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วนในเรื่องของการลงทุนว่าเราจะลงทุนอย่างไรที่โครงสร้างแล้วไม่ทำให้ประชาชนลำบากอีกหลายปี

นอกจากนี้ เราก็ยังให้ความสำคัญในการที่คนไทยจะไปลงทุนต่างประเทศด้วย โดยเราได้ทำเอฟทีเอ ซึ่งถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับยุโรป แม้จะไม่ทุกประเทศในยุโรปแต่ก็มี 4 ประเทศแล้ว และในอนาคตก็หวังว่าจะได้ทำเอฟทีเอกับทุกประเทศในยุโรป เพื่อเปิดช่องทางให้การลงทุนของประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญคือการผ่านทางสินค้าการเกษตรให้มีมูลค่าสูง รัฐบาลได้เน้นย้ำไปที่การทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการผลิต การแปรรูปและการบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าสามารถอยู่ได้นานขึ้น มีคุณภาพที่สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนนโยบายที่รัฐบาลจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ประชาชน เข่น การเปิดโครงการคุณสู้ เราช่วย ที่จะมุ่งช่วยเหลือในเรื่องของหนี้สินเชื่อบ้าน ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก

โดยตัวเลขในการแก้ปัญหาหนี้สิน ครัวเรือนและผู้ประกอบการขนาดย่อยตั้งแต่ยุคนายเศรษฐา มีประมาณ 8.3 แสนบัญชี ซึ่งทำให้ลูกหนี้รายย่อยเหล่านี้หลุดออกจากเครดิตบูโร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกครั้ง จนมาถึงรัฐบาลสมัยของตน ตอนนี้เราก็ได้สานต่อในนโยบายเหล่านี้ เพราะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะตอนนี้มีลูกหนี้ที่ค้างอยู่กว่า 2.6 แสนบัญชี โดยจะทำให้จบภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้

นอกจากนี้ ตนยังได้ให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำให้โครงการคุณสู้เราช่วยควบคุมในกลุ่มลูกหนี้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และคิดว่ามาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมานั้น จะออกมาในช่วงของปลายเดือนมีนาคมนี้