‘กฤษฎีกา’ ส่งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นให้ กกต.แล้ว คาดเสร็จปลายปี เลือกตั้งท้องถิ่นส่อเลื่อน!

“กฤษฎีกา” ส่งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นให้ กกต.รับฟังความเห็นแล้ว เพิ่มมาตรการรับมือหาเสียงออนไลน์ คาดแล้วเสร็จปลายปี ส่อเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปหลังเลือกตั้ง ส.ส. เหตุต้องเว้นระยะห่าง 3 เดือน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว และส่งให้ กกต.รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งหมด 141 มาตรา ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 30 วัน และหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ กกต.จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมจะสามารถส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สนช.พิจารณาต่อไป โดยในขั้นตอนนี้ สนช.มีกรอบเวลาในการพิจารณา 60 วัน ก่อนจะทำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะมีกรอบเวลาอีก 90 วัน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2561 แต่จะยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพราะระยะเวลากระชั้นชิดกับการเลือกตั้ง ส.ส. ตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ และ กกต.ได้เสนอว่า การเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นควรมีการเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 โดยจะมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์กรบริหารส่วนตำบลและเทศบาลจะต้องมีกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน

ทั้งนี้ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แต่มีส่วนที่ปรับแก้ตามข้อเสนอของ กกต. เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ การกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต., การกำหนดให้ กกต.สามารถประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน และสามารถสืบสวนหรือวินิจฉัย เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือกรณีเห็นว่าในการจัดเลือกตั้งมีการกระทำการไปในทางที่อาจเกิดความเสียหายแก่การจัดเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.หรือกรรมการ กกต.อาจมีคำสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญคืออำนาจของ กกต.ที่เปลี่ยนแปลงไป, ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร และภายใน 90 วัน นับจากวันเลือกตั้งผู้สมัครต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งพร้อมหลักฐานต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

ทั้งนี้ หากมีการใช้จ่ายเกินค่าใช้จ่ายที่กำหนด กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้ นอกจากนั้นในการหาเสียงยังห้ามทำการโฆษณาด้วยการจัดมหรสพรื่นเริงต่างๆ ขณะเดียวกัน หากผู้บริหารหรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุมัติโครงการที่มีลักษณะจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 90 วัน ก่อนครบวาระหรือก่อนลาออก ให้ถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อห้าม เว้นแต่โครงการลัษณะบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการที่ผู้บริหารท้องถิ่นชิงความได้เปรียบโดยการลาออกก่อนครบวาระ และการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการและทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียง โดยให้อำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการประจำหน่วย ซึ่งเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขที่น่าสนใจ อาทิ กรณีการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หากฝ่าฝืนหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ กกต. ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขหรือลบข้อมูลได้ทันที หรือในกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครแล้ว เป็นเหตุให้ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ผู้นั้นจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่ ตามประมาณการที่ กกต.แถลงต่อศาล หรือกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยได้คะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่เลือกผู้ใด ให้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ผู้สมัครรายเดิมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

ขณะที่บทกำหนดโทษ อาทิ การทำเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครคนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และหากเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยทำต่อ กกต.เป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และหากการกระทำดังกล่าวหัวหน้าพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุน ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังให้ กกต.มีอำนาจกันบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้เป็นพยาน และไม่ดำเนินคดีก็ได้ เป็นต้น


ที่มา:มติชนออนไลน์