
ขุนคลังหวังประชุม กนง. 26 ก.พ.นี้ ลดดอกเบี้ย เพิ่มแรงส่ง-เพิ่มความร้อนแรงให้เศรษฐกิจช่วงจีดีพีเริ่มขยับเพิ่มขึ้น พร้อมขอ ‘แบงก์ชาติ’ อ่อนเกณฑ์ LTV ยืดหยุ่นปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เล็งเพิ่มมาตรการแก้หนี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพุธที่ 26 ก.พ.นี้ ว่า ทุกประเทศตอนนี้เรื่องของการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของการพิจารณาจากเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของประเทศไทยถือว่าต่ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากเงินเฟ้อลงแล้วสามารถเพิ่มความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้บ้าง ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.5 % แต่ว่าในสองไตรมาสแรกของปีนั้นทำอะไรไม่ได้ เมื่อมาดูว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3-4 ของปีเป็นเท่าไหร่ แล้วเราทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ ในเรื่องของการลดดอกเบี้ยลง นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังช่วยเศรษฐกิจไทยได้ในเรื่องของการส่งออกเนื่องจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะเป็นประโยชน์กับประเทศส่งออก โดยขณะนี้ประเทศนั้นค่าเงินถือว่ายังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูย้อนหลังไปก็จะเห็นว่าแนวโน้มค่าเงินของเราแข็งขึ้น ซึ่งค่าของเงินเป็นผลลัพธ์ของมาตรการต่าง ๆ และเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขัน
นายพิชัยระบุอีกว่า เรื่องนี้ในตอนที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดที่ไปยังประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการหารือกับรัฐบาลของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ซึ่งญี่ปุ่นก็บอกว่าเขาเป็นประเทศส่งออก ค่าเงินก็เคยแข็งค่าอยู่นานก็อ่อนค่าลง ซึ่งได้ประโยชน์จากการส่งออก แต่ว่าในเรื่องของการนำเข้าผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ว่าเศรษฐกิจของเขาก็ฟื้นขึ้นมาได้ ตอนนี้ถ้ามองเรื่องอะไรต้องไม่มองด้านเดียว ต้องมองว่าทำอย่างไรให้มีเงินหมุนเวียนและเหมาะสมกับสถานการณ์
นอกจากนั้น ในเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยกู้ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ปัจจุบันในเรื่องนี้มีการกระเตื้องขึ้นในทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะมีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนั้น ในเรื่องของอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เรื่องนี้ตนเองก็พยายามพูดเช่นกัน ให้มีการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งคิดว่าเรื่องเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีข้อมูลเหล่านี้หมดแล้ว น่าจะมีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณาด้วย
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ได้มีการหารือกับ ธปท.และสถาบันการเงินเพิ่มเติม เรื่องของการเพิ่มมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และการปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีบางเรื่องที่สามารถที่ปรับโครงสร้างได้อัตโนมัติ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงานที่สำคัญของรัฐบาล เรื่องของการแก้หนี้มีอยู่หลายล้านบัญชี ในขณะนี้ก็ต้องดูว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ อาจเป็นการลดเลยได้หรือไม่ เพราะลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยมาก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร การปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนนี้เป็นเรื่องวิธีการในการจะปรับ แต่หลักการยังเหมือนเดิม