
กระบวนการปรับคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1/1 ใกล้เข้ามาทุกขณะ
เมื่อปรากฏรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในช่วงช่วงท้ายการประชุม ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งวาระพิจารณาลับให้เฉพาะรัฐมนตรีเข้าประชุม และเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้อง
เพื่อหารือเรื่องการส่งเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญ ถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าเรื่องใดทำได้หรือไม่ได้ รวมถึงความหมายคำว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่ให้เกิดปัญหาส่งเรื่องให้ตีความหรือยื่นร้องภายหลังซ้ำรอยที่ผ่านมา
ที่ประชุมมอบให้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการส่งเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญ
มีรายงานว่า “ชูศักดิ์” กล่าวในที่ประชุมว่า ยินดีที่จะทำหนังสือไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความกระชับและความชัดเจนว่าคดีที่บุคคลนั้น ๆ ถูกภาคทัณฑ์หรือเคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้พ้นโทษเหล่านั้นถือว่าบุคคลดังกล่าวมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์แล้วหรือไม่ ขณะที่ในที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีรัฐมนตรีคนใดแสดงความเห็นเพิ่มเติม
ในวันรุ่งขึ้น 26 กุมภาพันธ์ “ชูศักดิ์” ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลตอนหนึ่งว่า “ยังเป็นเรื่องลับมากอยู่ ผมเข้าใจว่าคงจะทำให้เกิดความชัดเจน ในการตีความเรื่องคุณสมบัติ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการตีความ ซึ่งทุกคนทราบกันดีอยู่ เขาก็ต้องการให้เกิดความชัดเจน แต่รายละเอียดยังตอบไม่ได้ เพราะสำนักเลขาธิการ ครม. ตีเป็นชั้นความลับอยู่”
ส่วนจะหารือในมิติไหนนั้น “ชูศักดิ์” กล่าวว่า “มิติไหนยังตอบไม่ได้ แต่พูดได้แค่ว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน”
“เขาไม่อยากให้คุณไปตีความถึงขนาดทำนู่นทำนี่ เพียงแต่ว่าเขาต้องการให้เกิดความชัดเจนเท่านั้นเอง คุณสมบัติข้อนี้ ๆ เป็นยังไง เพราะที่ผ่านมาเราก็ทราบดีว่าไม่มีความชัดเจน”
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่… “ยังไม่รู้ แต่จะยื่นไปก่อน”
กระแสปรับ ครม.
ย้อนไปในการจัดตั้ง ครม.แพทองธาร 1 หลังจากฟอร์มรัฐบาล มีบุคคลที่ชวดการเป็นรัฐมนตรีอยู่ 2 คน คือ ชาดา ไทยเศรษฐ์ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เพราะพิษมาตรฐานจริยธรรม ที่ทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตามหลอกหลอน จึงทำให้การตรวจคุณสมบัติของผู้จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในแพทองธาร 1 เข้ม…ยิ่งกว่าเข้ม
ท้ายสุด ทั้ง 2 คน ได้ส่งตัวแทนไปเป็นรัฐมนตรี คือ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ไปนั่ง รมช.มหาดไทย อีกคนคือ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไปนั่งเป็น รมว.เกษตรฯ เก้าอี้ตัวเดิมของ ร.อ.ธรรมนัส และอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส ได้นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส อาจจะได้กลับมานั่งเป็นรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่ง เมื่อประกอบกับรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ครม.มีประชุมลับสุดยอด เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตีความขอบเขต “จริยธรรม” ว่า กว้าง-แคบ แค่ไหน จึงเดาทางไม่ยากว่า เป็นกระบวนการเริ่มต้น สู่การปรับ ครม.ในอีกไม่นานนี้
ศาลมีอำนาจตีความหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ที่กำหนด “หน้าที่และอำนาจ” ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาล ระบุหน้าที่-อำนาจของศาลเริ่มจาก
ในมาตรา 4 ระบุนิยามของคำว่า “คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ที่ได้ยื่นคําร้องหรือหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัย
“ผู้ร้อง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นไม่ว่าจะเสนอโดยคําร้องหรือโดยหนังสือ
ต่อมาในมาตรา 7 กำหนดให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังต่อไปนี้
(1) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(2) คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้เลิกการกระทําล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
(4) คดีที่ประชาชนหรือชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
(5) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
(6) คดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
(7) คดีเกี่ยวกับการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(8) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
(9) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี
(10) คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
(11) คดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(12) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(13) คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้อยู่ในเขตอํานาจของศาล
ใครมีสิทธิยื่นร้องศาล
เมื่อนำมาประกอบกับมาตรา 41 อันเป็นมาตราที่กำหนดลักษณะ “บุคคล-องค์กร” ที่จะมีสิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 7 ไว้ชัดเจน
โดยมาตรา 41 ระบุว่า ผู้ที่จะขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 7 จะต้องเป็นบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น
การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 7 ให้กระทําเป็นคําร้องตามแบบที่กําหนด
ในข้อกําหนดของศาล เว้นแต่การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีในกรณีดังต่อไปนี้ ให้จัดทําเป็นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
(1) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ หรือนายกรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย
(2) ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกําหนด
(4) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจ
(5) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
(6) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
(7) คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
(8) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(9) การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 7 (13) ที่ข้อกําหนดของศาลกําหนดให้ทําเป็นหนังสือ
เมื่อตีความมาตรา 41 (7) ซึ่งระบุสิทธิของ คณะรัฐมนตรี ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา จะต้องเป็น “คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”
ดังนั้น การที่ ครม.จะทำหนังสือสอบถามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความกระจ่างเรื่อง “คุณสมบัติ” ของการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับ มาตรฐานทางจริยธรรม อาจไม่สอดคล้องกับมาตรา 7 และมาตรา 41 อันเป็นหลักที่ศาลรับไว้พิจารณาคดี
อีกทั้งก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้องของ “ไผ่ ลิกค์” สส.พรรคกล้าธรรม ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้ถูกร้องที่ 2) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 3) และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ถูกร้องที่ 4)
ให้ความเห็นทางกฎหมาย เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) [ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท] ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 25
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่ เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่เป็นเพียงการให้คำปรึกษาและความเห็นทางกฎหมายโดยปฏิบัติตามหน้าที่ และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และการทูลเกล้าฯ รายชื่อบุคคลเพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรี กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง
“ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”
จะเห็นได้ว่ากรณีของ “ไผ่ ลิกค์” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยวิธี “ทางอ้อม” ซึ่งต้องร้องผ่าน 4 หน่วยงาน ทั้งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี-กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เข้าข่าย “ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 7 (11) และมาตรา 46 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง
ดังนั้น ครม.ต้องหาช่องยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา และต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะตอบ “คำถาม” ของ ครม.หรือไม่