
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ ผู้เขียน : วิรวินท์ ศรีโหมด
พรรคประชาชน-ผู้นำฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เจาะจงชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว
ผลงานเศรษฐกิจ คือด่านหน้าที่พรรคประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน เจาะจงลงไปในญัตติว่า “ขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน”
แท้ที่จริงแล้ว ในช่วง 5 เดือนของรัฐบาลเพื่อไทย (พท.) ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร มีอะไรที่สะท้อน “ลายเซ็น” พรรคที่มีอดีตว่าเก่งกาจด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
อะไรคือจุดแข็ง-จุดอ่อนที่แท้จริง ของทั้งองคาพยพ รัฐบาลเพื่อไทย
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) เฉลยหน้าม่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
2 ลายเซ็นที่ยังไม่ชัดรัฐบาลเพื่อไทย
แกนนำฝ่ายค้าน วัย 30 กลาง ๆ เปิดประเด็นโจทย์สำคัญรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะภาพจำความสำเร็จตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มีสององค์ประกอบ 1.ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และหลายครั้งต้องยุติบทบาทจากการถูกรัฐประหาร 2.แก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ปัจจุบันความชอบธรรมทางประชาธิปไตยรัฐบาลเพื่อไทยสั่นคลอนพอสมควร แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่เมื่อจับมือพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร จึงถูกตั้งข้อสงสัยถึงผลประโยชน์ที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชน รวมถึงตลอด 2 ปี วาระผลักดันเรื่องประชาธิปไตยคืบหน้าน้อยมาก อาทิ แก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร การนิรโทษกรรม
ส่วนความสามารถในการแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ถึง 2 ปีมานี้ ผลลัพธ์เศรษฐกิจไม่เป็นตามเป้า สมัยเป็นแคนดิเดตนายกฯ แพทองธารประกาศจะทำให้ GDP โตเฉลี่ย 5% ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีแรก แต่ผลออกปี 2567 GDP โตเพียง 2.5% ฉะนั้น หลังจากนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า นโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยที่เคยหาเสียง จะผลักดันได้จริงหรือไม่
3 พายุเศรษฐกิจไม่มาตามนัด
“พริษฐ์” ฟันธงว่า นโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย “ไม่ตรงปก ไม่ตามเป้า ไม่แก้ที่ต้นตอ”
ไม่ตรงปก : นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ไม่สามารถขับเคลื่อนตามที่หาเสียง รายละเอียด 2 เฟสแรก ต่างจากที่ประกาศไว้ว่าไม่กู้สักบาท สุดท้ายกลับกู้เต็มแม็ก รวมถึงตอนแรกกำหนดเริ่มโครงการช่วงสงกรานต์ 2567 สุดท้ายแบ่งหลายเฟส และเริ่มปลายปี รวมถึงหลักการแจกเป็นเงินดิจิทัล แต่ 2 เฟสที่ผ่านมาให้เงินสด ที่เคยมั่นใจว่าจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หากดูตัวเลขการคาดการณ์ธนาคารโลก และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ชี้ว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่เคยโฆษณาไว้ เปรียบง่าย ๆ แจกเงิน 10 บาท แต่กระตุ้น GDP ได้เพียง 3-4 บาท
“ตอนแรกออกแบบนโยบายดิจิทัลวอลเลต มีไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เหตุผลเป็นเงินดิจิทัลเท่านั้น สุดท้ายเปลี่ยนเป็นเงินสด ผลลัพธ์กระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ตามเป้า เพราะการออกแบบไม่คำนึงถึงปัญหาใหม่ ๆ ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ”
นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ : หาเสียงเลือกตั้งกำหนดปี 2567 จะขึ้น 400 บาทต่อวัน ทุกอาชีพทั่วประเทศ และภายใน 2570 จะแตะ 600 บาท สุดท้ายปีแรกให้ 400 บาทบางพื้นที่
พริษฐ์มองว่า นโยบายนี้ควรทำเป็น 2 ระยะ ช่วงแรกต้องขึ้นเพื่อมีนัยสำคัญเฉพาะหน้า ไปพร้อมออกแบบโครงการให้รองรับบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ระยะยาวพรรคประชาชน เคยเสนอให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเริ่ม 450 บาท และการปรับไม่ควรกระชาก แต่ต้องต่อเนื่องเพื่อผู้ใช้แรงงานไม่ต้องลุ้นทุกปี ทำให้เอกชนได้วางแผนล่วงหน้า
ขณะที่การลดราคาพลังงาน โฆษกพรรคประชาชนสะท้อนว่า การลดค่าไฟมีการตั้งคำถามมาต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านคือการนำเงินส่วนอื่นมาโปะ ฉะนั้นหากต้องการอย่างยั่งยืนไม่ควรทำแบบนี้ และหากย้อนดูในเอกสารนโยบายพรรคเพื่อไทยเคยระบุไว้ว่า การแก้ปัญหาค่าไฟต้องอาศัยความกล้าหาญเจรจากับกลุ่มทุน ตรงนี้เห็นด้วย
“แต่คำถามที่ตามมา 1-2 ปี พูดคุยกับภาคเอกชนมากน้อยเพียงใด เวลาไปตีกอล์ฟพูดคุยประเด็นนี้แค่ไหน เพราะต้นตอค่าไฟแพง คือเรื่องสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชน ฉะนั้นการเจรจาจะช่วยลดค่าไฟได้อย่างยั่งยืน”
เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ ?
นโยบายรัฐบาลที่ปักธงต่อเนื่องมา 2 นายกรัฐมนตรี คือ เมกะโปรเจ็กต์ความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “พริษฐ์” ชี้ว่า หากย้อนดูรายงาน กมธ.วิสามัญสภา ปี 2567 ชื่อโครงการเขียนชัดเจนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาพนันผิดกฎหมาย แต่เมื่อเทียบกับร่างกฎหมายที่ ครม.อนุมัติร่างหลัก เมื่อเดือนมกราคม 2568 ยังมีข้อที่แตกต่างกัน
เดิมให้รัฐกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่าไหร่ก็ได้ โดยอิงกลไกเศรษฐกิจ แต่ร่าง ครม.มีการกำหนดเพดานไว้ รวมถึงเดิมใบอนุญาตอายุ 20 ปี ร่างใหม่ให้ 30 ปี และต่ออายุทุก 10 ปี หลักการล่าสุดนี้ทำให้รายได้เข้ารัฐลดลง
ส่วนมิติกระตุ้นท่องเที่ยว เดิมรัฐพยายามหาวิธีให้เกิดการท่องเที่ยวกระจายตัวไปจังหวัดเมืองรอง แต่พอพิจารณาไส้ในร่างที่ผ่าน ครม. ไม่กำหนดสถานที่ตั้ง จำนวนสถานบันเทิงครบวงจร นี่จึงอาจเป็นอีกคำถามตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้จริงหรือ
จี้ต้นตอปัญหา GDP โตต่ำ
ส่วนนโยบายการเงินรัฐบาล พริษฐ์มองว่า ต้องยอมรับที่ผ่านมาพยายามสื่อสารกดดันให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ย เพราะคาดหวังจะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าการลดดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และหากวันหนึ่ง ธปท.ลดดอกเบี้ย แต่ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข มันจะยิ่งทิ่มแทงรัฐบาล
ขณะที่การผลักดันการลงทุน ปัจจุบันตัวเลขลงทุนติดลบเยอะที่สุด คือลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ฉะนั้นโจทย์ของรัฐบาลหากต้องการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องทำให้ต่างชาติสบายใจในการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
“ต้นตอปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลให้ GDP โตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัญหาขีดความสามารถ หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นคน เราไม่ได้แค่ป่วยและต้องการยารักษาให้หายเพื่อกลับมาแข็งแรง แต่เราเป็นคนร่างกายอ่อนแอ มีปัญหาขีดความสามารถการแข่งขัน แม้ไม่ป่วยแต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ สุดท้ายก็ไม่มีกำลังพอที่จะวิ่งแข่งกับคนอื่นได้”
เค้าโครงเศรษฐกิจ ขีดโดยพรรคประชาชน
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา บทบาทของ “พริษฐ์” จะเป็นโฆษกหน้าม่านรัฐธรรมนูญ แต่หมวกที่สำคัญอีกใบของเขาคือ โฆษกพรรคประชาชน ในฐานะแกนกลางของพรรคฝ่ายค้าน เขาวาดเค้าโครงเศรษฐกิจของพรรค ด้วย 3 คำหลัก
คือ “คอร์รัปชั่น คน และการแข่งขันการค้าที่เป็นธรรม”
ค.1 การคอร์รัปชั่นกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน การอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรู้สึกโปร่งใส ระบบมีประสิทธิภาพ จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ฉะนั้นควรเอาจริงเอาจัง ปรับปรุงระบบให้ป้องกันทุจริต “โกงไม่คุ้ม โกงไม่ได้ โกงไม่รอด”
ค.2 คน ต้องเพิ่มการลงทุนพัฒนาคน ตั้งแต่เด็กเล็กถึงวัยทำงาน เช่น ลงทุนศูนย์เด็กอ่อน พัฒนาหลักสูตรการศึกษาสำหรับโลกอนาคต เพราะหลักสูตรการศึกษาไทยไม่ได้ยกเครื่องใหญ่มาตั้งแต่ยุคโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นแรก รวมถึงต้องกระจายอำนาจให้สถานศึกษาตัดสินใจเองได้มากขึ้น
สุดท้าย ยกระดับทักษะคนวัยทำงาน ซึ่งไทยมีงบประมาณในการยกระดับทักษะ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี หากเทียบกับงบฯซ่อมถนน 5 หมื่นล้านบาทต่อปี งบฯปรับปรุงแหล่งน้ำ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือว่าน้อยมาก และการทำงานหลายหน่วยงานซ้ำซ้อน
ค.3 แข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีลักษณะผูกขาดหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นต้องเร่งมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ป้องกันใช้อำนาจเหนือตลาด รวมถึงต้องออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs
การกระตุกเศรษฐกิจสไตล์พรรคประชาชน “พริษฐ์” เห็นว่า การกระตุ้นอาจไม่ต้องเอาทุกอย่างไปฝากความหวังกับนโยบายเดียว เช่น เงินดิจิทัล 10,000 แต่ต้องกระตุ้นผ่านโครงการรัฐขนาดเล็ก ที่ยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนทั่วประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การลงทุนยกระดับคุณภาพน้ำประปา ลงทุนระบบขนส่งในต่างจังหวัด โครงการรัฐขนาดเล็กเหล่านี้ ได้ประโยชน์ 2 เด้ง คือ ยกระดับบริการสาธารณะ เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกพื้นที่ เป็นการปลดล็อกศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ไม่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจซบเซาต้องมีการกระตุ้น แต่ไม่ควรเอาทุกสิ่งทุกอย่างเดิมพันไว้กับนโยบายเดียว มันจะเป็นภาระงบประมาณ และอาจเบียดบังนโยบายพื้นที่อื่น ๆ”
ฝ่ายค้าน GPS หนังตัวอย่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การเตรียมตัวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 “พริษฐ์” ในฐานะโฆษกพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ขึ้นต้นเรื่องไว้ให้รอชมฉบับจริงเร็ว ๆ นี้ว่า “พรรคเตรียมตัวมาต่อเนื่อง เพราะเป็นเวทีสำคัญ ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล เนื้อหาหลักยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เชื่อว่าทุกเรื่องที่สังคมครหา ตั้งคำถามรัฐบาล พรรคประชาชนมีการตรวจสอบเชิงลึกอย่างเข้มข้น”
“บางเรื่องยังไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะ เพราะเราทำหน้าที่แบบฝ่ายค้าน GPS มุมหนึ่งติดตามตรวจสอบใกล้ชิดทุกย่างก้าว อีกมุมช่วยเสนอแนะรัฐบาล”
“การอภิปรายรอบนี้ ธงใหญ่คือความล้มเหลวรัฐบาลในการแก้ปัญหาประชาชน ซึ่งจะแทรกทุกมิติทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ความไม่เป็นเอกภาพพรรคร่วมรัฐบาล จนนำมาสู่โอกาสสูญเสียการแก้ปัญหาให้ประชาชน”
ส่วนเป้าหมาย อาจไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาลได้ เพราะเสียงส่วนใหญ่คือฝั่งรัฐบาล แต่คิดว่าสิ่งที่จะตามมา เรื่องใดเป็นการทุจริตชัดเจน ต้องดำเนินการต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากฝ่ายค้านมีข้อเสนอที่ดีกว่า อาจนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป