นายกฯ ลุยชายแดนปอยเปต แก้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ย้ำใช้ยาแรงระเบิดสะพานโจร

แพทองธาร ชินวัตร

นายกฯ ลงพื้นที่ชายแดนปอยเปต ลุยแก้ปัญหาปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ย้ำใช้ยาแรงมาตรการระเบิดสะพานโจร เร่งคืนความปลอดภัยให้ประชาชน คืนความมั่นคงให้ประเทศ

ที่ห้องประชุม ร.12 พัน.3 รอ. อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือประเด็นการปราบปรามคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า วันนี้ตั้งใจมางานติดตามการดำเนินงาน หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรมได้ลงพื้นที่มาตรวจปัญหาดังกล่าว ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าปัญหาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งความมั่นคง ตำรวจ ที่ช่วยกันดูแลในปัญหาที่เกิดขึ้นมา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี

วันนี้จะไปดูว่าจากข้อสั่งการครั้งที่แล้ว ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง และจะติดตามผลว่ามีสิ่งใดสามารถเพิ่มเติมได้อีก หากทางเอกชนต้องการอะไรเพิ่มเติมจากรัฐบาลในเรื่องการสื่อสารไปถึงประชาชน วันนี้จะได้มีการพูดคุยเพิ่มเติมด้วย

จากนั้นนายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานสถานการณ์ภาพรวมการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์จากผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการระงับเสารับส่งสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยมีระยะทางเริ่มตั้งแต่บริเวณอำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภออรัญประเทศ ไปสิ้นสุดที่อำเภอคลองหาด รวม 4 อำเภอ มีเสารับส่งสัญญาณจำนวน 118 เสา อนุญาต จำนวน 70 เสา ยังไม่ได้อนุญาต 48 เสา รวมทั้งการระงับบัญชีม้าและการจัดการที่พักผิดกฎหมาย ที่พักจอดรถ รับฝากรถ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงสำหรับการลักลอบพาคนข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนสระแก้ว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (1 มีนาคม 2568) สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดเสียมราฐ ได้อำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนไทย 119 คน ที่อาศัยอยู่ในกรุงปอยเปต กลับประเทศไทย โดยจะนำส่งไปยังศูนย์คัดกรองตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) จังหวัดสระแก้ว เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนมาตรการซีลพื้นที่ชายแดนภายใต้เขตรับผิดชอบของ ทภ. 1 ตามนโยบาย Seal Stop Safe นั้น มีสถิติการจับกุมลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2566-ปัจจุบัน) พบว่ามีสถิติการจับกุมลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยในเดือน ก.พ. 68 ได้จับกุมผู้กระทำความผิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวน 13 ครั้ง ผู้ต้องหาชาวไทย 25 คน ชาวจีน 3 คน และชาวอินโดนีเซีย 1 คน

ADVERTISMENT

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและงดจ่ายน้ำมันนั้น พบว่าปัญหาการถูกหลอกลวงลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กสทช.ได้ระงับบริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดน “ยุทธการล้มเสา ตัดสาย ทำลายซิม” ในพื้นที่ 4 อำเภอเสี่ยง พร้อม 6 แนวทางการปฏิบัติ

ได้แก่ 1) จุดตรวจตรวจค้นบุคคล-ยานพาหนะ 2) ตัดเส้นทางการข้ามแดนแบบผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น 3) ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ผิดกฎหมาย 4) ตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่รั่วไหลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 5) ตรวจสอบโรงแรม 6) ตรวจสอบบ้านเป้าหมาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ดังนี้

1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช.ติดตามเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณสื่อสาร รวมทั้งซิมโทรศัพท์ อย่าให้ถูกมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน และตรวจสอบสัญญาณที่ตัดไปแล้ว อย่าให้มีการติดตั้งขึ้นมาใหม่อย่างเด็ดขาด

2.ให้หน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กวดขันเรื่องการเข้าออกบริเวณแนวชายแดน เฝ้าระวังการลักลอบนำคนหรืออุปกรณ์ใด ๆ เข้าออกตามแนวชายแดน โดยเฉพาะตามช่องทางธรรมชาติ และต้องมีการทำงานด้านการข่าวกับคนในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการจับกุมหรือการเดินทางเข้ามาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปราบปรามของรัฐบาล

3.ให้ทหาร ตำรวจ ศุลกากร ฝ่ายปกครอง ตรวจสอบคัดกรองด้วยความรอบคอบ ว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด ผู้ใดเป็นเหยื่อ และต้องมีบันทึกการจับกุมอย่างชัดเจน

4.ให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในกรณีที่มีการส่งกลับ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกส่งกลับแล้วจะต้องส่งตัวต่อไปยังประเทศที่สาม ขอให้มีความชัดเจนในการส่งตัวกลับไปยังประเทศปลายทางในทันที พร้อมทำบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อป้องกันการกลับเข้ามากระทำผิดซ้ำในประเทศไทยด้วย

5.ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กองกำลังป้องกันชายแดน และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพิ่มมาตรการคัดกรองและตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด การควบคุมเส้นทางการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการอาชญากรรม เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบด่านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว และมาเลเซีย

6.ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยดูการเข้มงวดในมาตรการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ด้านต่าง ๆ อย่าให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่แค่จังหวัดสระแก้วเท่านั้น แต่เป็นทุกพื้นที่ที่เข้าไปดูแล พออันตรายลดลงก็ไม่อยากให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเดือดร้อนหรือได้รับความลำบากเพิ่มเติม

“ฝากทุกหน่วยงานช่วยกันดูเรื่องความสะดวกของประชาชนด้วย นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว เรื่องของความสะดวกสบายของชีวิต ก็ไม่อยากให้เสียไป หากจะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรเพิ่มเติม ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นมีเทคโนโลยีอะไรที่ควรใช้ และเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เลยในประเทศก็จะดีมาก ๆ“ นายกรัฐมนตรีกล่าว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมศูนย์คัดกรองตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ จังหวัดสระเเก้ว (National Referral Mechanism-NRM) ใช้เป็นศูนย์คัดแยกเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นตอนของ NRM มี 4 ขั้นตอนคือ รับแจ้งเหตุ คัดกรอง คัดแยก คุ้มครอง

โดยขั้นตอนการคัดแยก คัดกรอง จะมีสหวิชาชีพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และพนักงานสอบสวน ร่วมในกระบวนการ ซึ่งจะต้องรอให้กระบวนการคัดแยกคัดกรองเสร็จสิ้นก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง ช้าสุดไม่เกิน 15 วัน หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเหยื่อในการคัดกรอง คัดแยก และเมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าเป็นผู้เสียหายก็จะเข้าสู่ความคุ้มครอง จากนั้นก็จะส่งให้กับญาติเพื่อให้กลับประเทศ