พิชัย กางแผนปั๊มจีดีพีโต 3.5% ลุยเพิ่มประสิทธิภาพ 3 เครื่องยนต์หลัก-ปรับโครงสร้าง

พิชัย ชุณหวชิร

ขุนคลัง “พิชัย” กางแผนปั๊มจีดีพี ปี’68 โต 3.5% ลุยเพิ่มประสิทธิภาพ 3 เครื่องยนต์หลัก “ลงทุน-ส่งออก-ท่องเที่ยว” คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ “ภาคเกษตร-พลังงาน” พร้อมเร่งแก้ปัญหาหนี้-เติมเงินเข้าระบบ จี้แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ เล็งดึงซอฟต์โลน ธปท. สนับสนุน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ว่า คําตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาประเทศไทย คือการทําให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องหนี้ เรื่องการลงทุนที่น้อย ทั้งหมดนี้ คําตอบสุดท้าย ก็คือ การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทําหลายอย่าง ก็เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ ซึ่งที่ผ่านมา GDP ไทยปี 2567 เติบโตอยู่ที่ 2.5% ซึ่งมีข้อสังเกตช่วงครึ่งแรกของปี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้แบบไม่เต็มสูบ งบประมาณที่ยังไม่มี ทุกคนยังตั้งหลักตั้งตัวไม่ทัน แต่มาช่วงครึ่งปีหลังก็เริ่มเดินได้ ตั้งแต่ไตรมาส 3 โตได้ 3% และไตรมาส 4 โต 3.2%

“จริง ๆ ครึ่งปีหลังก็คือโต 3.1% สรุปทั้งปี 2.5% แต่มองไปข้างหน้า ครึ่งปีหลังจะเป็นฐานอยู่ 3.1% เราก็ต้องตั้งว่า ยังไงก็ต้องผลักดันให้เกิน 3% ในปีนี้ ถึงแม้ว่าหน่วยงานหลายแห่งจะคาดว่าจะเติบโต 2.8 – 2.9% เราคิดว่าในแง่ข้อรัฐบาล ก็ต้องผลักดันให้เกิน 3% และ ระดับที่ 3% เราก็พยายามตั้งเป้าให้ รู้สึกว่าทุกคนจะต้องทํางาน ก็อยากจะตั้งไว้ที่ 3.5%”

ทั้งนี้ การผลักดัน GDP ปีนี้ ให้โตได้ถึง 3.5% นั้น 0.5% ที่เพิ่มขึ้น ก็มีโจทย์และวิธีปฎิบัติ ซึ่งต้องทำคู่ขนานไปกับการวางรากฐานให้แข็งแรง เพื่อให้แต่ละปีเดินได้ด้วยตัวเอง สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งในปี 2568 นี้ ก็จะมีเครื่องจักรที่จะขับเคลื่อน เพื่อนําไปสู่การบริโภคของประชาชน

“จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจดี ก็คือ มีเงินบริโภค แล้วมีหนี้ไม่เยอะ หลักง่าย ๆ เลย เพราะฉะนั้นเครื่องจักรจริง ๆ หนึ่ง ก็คือ การลงทุน สอง การส่งออก และ สาม การท่องเที่ยว”

ADVERTISMENT

สำหรับการลงทุน ก็จะพูดถึงทั้งการลงทุนภาครัฐ ผ่านงบประมาณรัฐ รายจ่ายลงทุน ส่วนภาคเอกชนแล้วก็พูดถึงการลงทุนผ่านการส่งเสริมของ BOI โดยการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐปีนี้ตั้งเป้าเร่งให้ได้ 85% จากปกติจะได้ปีละใกล้ ๆ 80%

“เรามานั่งดู การลงทุนเนี่ยทุก ๆ 100,000 บาทที่จ่ายเพิ่มเข้าไปได้ จากเดิมที่เคยใส่ จะเพิ่ม จีดีพี ได้ถึง 0.25% ตัวนี้ มันเยอะโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพวกรายใหญ่ลงทุน ส่วนฝั่งภาคเอกชนโดย BOI คงได้ยินมีคําขอประมาณสัก 30,000 ล้านเหรียญ จริง ๆ ก็คือยอดประมาณ 1.1 ล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าอนุมัติปลายปีที่แล้ว 9.7 แสนล้านบาท ซึ่งปกติ 2-3 ปี กว่าจะเสร็จ แต่ยังไงก็ตาม ปีนี้เราก็คิดว่า ปกติจะใช้ในแต่ละปี จะประมาณ 40% ปีนี้เราจะตั้งให้เป็น 45% ก็น่าจะมีความเป็นไปได้”

ADVERTISMENT

ต่อมาการส่งออก ที่เป็นเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุด เพราะว่าไทยพึ่งพาการส่งออก 65-70% ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าส่งออกโต 4.4% ซึ่งได้พิจารณาถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ ด้วย ทั้งเรื่องนโยบายของสหรัฐ และ อื่น ๆ

นายพิชัย กล่าวว่า อีกเครื่องจักรคือ การท่องเที่ยว โดยปีที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็มาถึงจุดที่เรียกว่าเกือบจะใกล้เคียงก่อนโควิดแล้ว อยู่ที่ 35 ล้านคน ซึ่งปีนี้ตั้งไว้ประมาณ 38.5 ล้านคน หากทำได้ก็เก่งแล้ว อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะทําได้เพิ่มปีนี้ ก็คงต้องดูว่า ไทยเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ในช่วงเดือนธันวาคม ดังนั้น ต้องวางโปรแกรมให้ดี อาจจะต้องจัดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ไทยนานขึ้นด้วย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

“แน่นอน สําหรับปี’68 ต้องเข้าไปแก้ที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว ส่งออก เหล่านี้เราก็ต้องทํามอนิเตอร์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น” นายพิชัยกล่าว

รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนหนึ่งคือ ภาคการเกษตร ที่มีพืชหลัก 5 พืชด้วยกัน ซึ่งการแก้ปัญหา ก็ต้องแก้เรื่องคุณภาพดินด้วย การส่งออกสินค้าเกษตรก็ต้องให้ค่าเงินอ่อนด้วย

ขณะที่ด้านพลังงาน ประเทศไทยก็ควรต้องกลับมาคิดว่า เราควรเป็นเจ้าของพลังงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งครั้งหนึ่ง ไทยเคยเป็นเจ้าของพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้เกิน 100% ทำให้ต้นทุนพลังงานถูก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าแพงไป

นายพิชัย กล่าวอีกว่า กำลังเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้แบงก์พาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยที่กำลังคิดอยู่ คือการทำโครงการที่สามารถใช้ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าใส่เงินเข้าระบบ โดยในอดีตก็เคยมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแล้ว ทั้งนี้ หลักคิดของตน ก็คือต้องเติมเงินเข้าระบบ

สำหรับคนที่ปัจจุบันมีปัญหา แต่ก่อนโควิดคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้แบงก์รับความเสี่ยงมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อช่วยคน เพราะแบงก์ก็มีกำไรมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศในปัจจุบัน

ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นไปปล่อยกู้แค่รายใหญ่ แต่ไม่ปล่อยให้รายเล็ก ซึ่งการที่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ อาจจะบอกว่ากังวลความเสี่ยงหนี้เสีย แต่อยากให้คิดให้ลึก ๆ เพราะถ้าไม่ปล่อยสินเชื่อเลยก็จะมีปัญหา

“ถามว่า ถ้ารายเล็กมีปัญหาก็ลามกลับมาถึงรายใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อนี้ ไม่ใช่การบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ให้เลือกกลุ่มที่พอมีความสามารถ ไม่ใช่ปิดประตูไม่ปล่อยให้รายเล็กเลย ปีหนึ่ง ๆ มียอดสินเชื่อค้างอยู่ในระบบธนาคาร 18 ล้านล้านบาท บางคนก็จ่ายดอกเบี้ย 3% 4% บางคนก็จ่าย 7% หรือ 10% ก็มี แต่ดูที่ NIM ซึ่งอยู่ที่กว่า 3% คิดออกมาก็ประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท ที่มีคนเข้าไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับแบงก์ แล้วแบงก์ก็ไปลงเป็นรายได้ จ่ายเป็นเงินปันผล ขณะที่ถ้าจะให้มีเงินใหม่เข้ามา ก็ต้องมีสินเชื่อใหม่ แต่เมื่อสินเชื่อเท่าเดิม ก็แปลว่าเงินหายไปจากตลาด ก็เพราะว่าแบงก์ไม่ปล่อย”

นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนปล่อยกู้ผ่านโมบายแบงกิ้ง คล้าย ๆ กับเป็น Virtaul Bank ผ่านมา 2 ปีแล้วหนี้ก็ไม่เสีย ดังนั้นส่วนหนึ่ง กระทรวงการคลังจะให้ทางธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว โดยให้กู้รายละไม่เกิน 10,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มค้าขายที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบ มีอยู่ประมาณ 3 แสนบัญชี โดยทางธนาคารออมสินน่าจะประกาศเรื่องนี้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

“ดังนั้นเราจะมีมาตรการที่เติมเม็ดเงินลงไป ซึ่งผมก็จะมอนิเตอร์ความเข้มแข็ง งบดุลของแบงก์ออมสินด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่องสินเชื่อบ้าน ผมก็จะรีวิวด้วย เรื่องรถกระบะก็จะดูด้วยว่า หนี้เสียจะให้ บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้าไปช่วย 30% เพื่อดูแลเรื่องนี้ให้เข้าในระบบค้ำประกัน เพราะเรามองรถกระบะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน วิธีคิดผมก็คือ เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ คนที่จะเติมได้ดีที่สุดก็คือ สถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินภาครัฐก็เติมเข้าไปค่อนข้างเยอะ” รองนายกฯ และ รมว.คลังกล่าว