4 ทีมวอร์รูม กำแพง 3 ชั้น ป้อง แพทองธาร พ้นเกมไม่ไว้วางใจ

แพทองธาร อภิปรายไม่ไว้วางใจ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เหลือไม่ถึง 20 วัน เกมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งแรกหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยการซักฟอกของพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาชน จะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2568

เป็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ความพร้อมรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านว่า ทุกคนได้ให้ข้อมูลมามากพอสมควร ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากดิฉันก็ไม่เคยถูกอภิปรายมาก่อน ก็เดี๋ยวลองดูว่าอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ ๆ คือ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และเน้นย้ำในเรื่องของกฎหมายด้วย

นายกฯมองว่า เวทีซักฟอกจะเป็นเวทีที่ดี “เป็นเวทีที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ ในข้อมูลที่แท้จริง และเข้าใจความเป็นตัวตนของดิฉันด้วย ที่เป็นนายกฯ Gen Y ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า บางทีเราอาจจะไม่มีนายกฯ Gen Y เพราะฉะนั้น จะได้เข้าใจซึ่งกันและกัน”

“ในเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งหัวข้อมา เรื่องภาวะผู้นำอะไรต่าง ๆ เดี๋ยวจะต้องชี้แจง ซึ่งภาวะผู้นำก็ต้องให้ประชาชนตัดสิน จริง ๆ เราก็ไม่ได้อยากชี้นิ้วว่าใครเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้นำในแบบของเรา จะว่าใคร เราก็ต้องเป็นผู้นำให้ได้ก่อน แล้วค่อยพูดถึงคนอื่นได้”

ปลุกกระแสซักฟอก 1 วัน

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาชน ขอวัน-เวลา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไว้ 5 วัน ข่าวที่ถูกปล่อยออกมาว่าจะมี 10 รัฐมนตรีในรัฐบาล ถูกจองกฐินอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ADVERTISMENT

แต่แล้ว 26 กุมภาพันธ์ พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร” แค่คนเดียว เพราะนายกฯเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” กำกับทุกกระทรวง

ทว่า “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานคณะรัฐมนตรี (วิป ครม.) ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง “ครม.” กับ “สภา” และ “พรรคฝ่ายค้าน” รุกกลับทันทีในวันที่ 27 กุมภาพันธ์

ADVERTISMENT

“เดิมทีพรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน ก็ได้มีการประสานเตรียมเวลาไว้เพื่อที่ฝ่ายค้านจะได้ใช้เวลาในการตรวจสอบซักถามรัฐมนตรีแต่ละรายได้ครบถ้วน”

“เมื่อยื่นญัตติในส่วนนายกฯเพียงคนเดียวนั้น ก็มองว่าเวลาที่เหมาะสมน่าจะใช้เพียง 1 วัน แล้วลงมติหลังเที่ยงคืนในวันเดียวกันนั้นเลย ก็คงเพียงพอแล้ว เพราะถ้าจะอภิปรายคนเดียวแล้วใช้ 5 วันก็เปลืองเวลาของสภา เอาเวลาที่เหลือไปนัด สว. มาโหวตรัฐธรรมนูญดีกว่า และนายกฯอิ๊งค์เพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ มาเพียง 6 เดือนเศษ
เท่านั้น”

“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็ให้สัมภาษณ์เป็นทำนองเดียวกับ “มนพร”

“เมื่อก่อนมีการเรียกร้องว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีเป็น 10 คน แล้วจะใช้เวลา 5 วัน แต่ตอนนี้อภิปรายนายกฯเพียงคนเดียว ใช้เวลา 1 วันก็พอแล้ว จาก 09.00 น. จนถึง 24.00 น. เป็นเวลากี่ชั่วโมง ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้มากกว่านั้นแล้ว ไม่เคยมีเปิดอภิปรายคนเดียวแต่ใช้เวลา 5 วัน ให้เวลานายกฯ หรือรัฐมนตรีคนอื่นไปทำงานดีกว่า”

“เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องมีการเจรจากัน เห็นเขาประโคมข่าวว่าเป็น 5 วันมาตลอด แต่โดยมารยาทเขาไม่พูดก่อน เพราะต้องมีการพูดคุยกันในวิปทั้ง 3 ฝ่ายก่อน แต่นี่วิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่คุณประโคมข่าวว่าจะอภิปราย 5 วัน มา 2 สัปดาห์แล้ว ตีฆ้องร้องป่าวกัน สุดท้ายก็ยื่นอภิปรายมาแค่คนเดียว”

“จะพูดไปทำไม ถ้าพูดเช่นนั้นก็รอให้คุณเป็นรัฐบาลก่อนแล้วค่อยเอา 5 วัน แต่ตอนนี้เป็นฝ่ายค้านก็ต้องฟังเราบ้าง วันเดียวเหมาะสมแล้ว จะเอา-ไม่เอาก็เรื่องของเขา ไม่อภิปรายก็ได้ พวกผมไม่ได้เดือดร้อน ให้วันเดียวนั่นแหละ ก็แล้วแต่”

หลังจากนั้น ขุนพลในพรรคเพื่อไทยก็ออกมาย้ำกระแส ซักฟอก 1 วัน ต่อมาเป็นทอด ๆ เกมนี้เป็นเกมที่พรรคเพื่อไทย กดดันพรรคประชาชน แม้ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยาก

เปิดทีมตัวช่วยอิ๊งค์

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 1 วันแล้วจบ เพราะอย่างน้อยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 151 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ทำในวันเดียวกับการอภิปรายสิ้นสุดลง

อีกทั้งการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เพียงคนเดียว สามารถแตะได้ทุกกระทรวง

“บทบาทของนายกรัฐมนตรีในการชี้แจง สามารถให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงแทนได้ เนื่องจากรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้รู้รายละเอียดดีที่สุด” วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลกล่าว

จึงมีการสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเก็งข้อสอบฝ่ายค้าน เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลรับการอภิปราย

มีการประเมินในพรรคเพื่อไทย นอกจากประเด็นที่เกี่ยวพันกับนายกฯ แพทองธาร ทั้งด้านการบริหารราชการ เรื่องบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงปมที่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ปมชั้น 14

คือนโยบายใหญ่ ๆ อาทิ โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต โครงการบ้านเพื่อคนไทย โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน

ทีมที่หนึ่ง วอร์รูมนำโดย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะสายเหยี่ยวด้านยุทธศาสตร์ และรัฐมนตรี พร้อมด้วยคนระดับเก๋าเกมในสภาของเพื่อไทย อาทิ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สุทิน คลังแสง ฯลฯ กำหนดเกมการอภิปรายต่อสู้กับฝ่ายค้านพรรคประชาชน

ทีมที่สอง คือ ทีมซัพพอร์ตข้อมูลจากทำเนียบรัฐบาล นำโดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งซัพพอร์ตข้อมูลด้านนโยบายต่าง ๆ ทั้งเชิงตื้น เชิงลึกด้านเศรษฐกิจ

ทีมที่สาม คือ ทีมของ เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ซัพพอร์ตเนื้อหา-สคริปต์การตอบคำถามให้นายกฯ และรัฐมนตรี ใช้ในการตอบคำถามฝ่ายค้าน เพื่อให้มีธีม-มีมุมทางการเมือง-มุมในการตอบโต้ เพื่อสื่อสารกับประชาชน และกลุ่มนางแบก นำไปขยายต่อในโซเชียลมีเดีย

ทีมที่สี่ คือ ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ที่ขณะนี้รัฐมนตรีแต่ละคนที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้สั่งการให้เตรียมข้อมูลไว้ซัพพอร์ตแล้ว

กำแพง 3 ชั้นในสภา

ขณะที่ในสภา จะมีกำแพงอีก 3 ชั้น เพื่อเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ

ชั้นแรก คือ กลุ่ม สส.ระดับเก๋าเกมในวิปรัฐบาล เป็นประเภท “แม่นข้อบังคับการประชุม” คอยแก้เกมหน้างาน มีวิปรัฐบาลและวอร์รูมที่มี “ภูมิธรรม” ช่วยกำกับ

ชั้นที่สอง กลุ่ม สส.รุ่นใหม่-รุ่นกลาง ทำหน้าที่ตามประกบผู้อภิปรายของพรรคประชาชน คอยตอบโต้-ประท้วง หากฝ่ายค้านอภิปรายจำเจ ซ้ำซาก ไม่เข้าอยู่ในประเด็น หรือแตะบุคคลต้องห้ามนอกสภา

ชั้นที่สาม กลุ่ม สส.หญิง ประมาณ 30 ชีวิต ทำหน้าที่ “เปลือกหอย” ปกป้องนายกฯ “แพทองธาร”

ไม่มีพรรคฆ่ากันตอนโหวต

อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทย รายหนึ่ง มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปได้ โดยไม่มีอะไรน่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

เพราะสถานการณ์ขณะนี้ แม้จะดูเหมือนว่าพรรคขั้วรัฐบาลกำลัง “แตกกันอย่างหนัก” แต่ไม่เคยมีฝ่ายไหนลงมือ “ฆ่ากันตอนโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ดังนั้น พรรคเพื่อไทย มั่นใจว่าผ่านวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ไม่ยากนัก