Q&A เกมอภิปราย ศึกแรก ‘นายกฯอิ๊งค์’

สภา

เป็นอันว่า ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร คนเดียว โดยไม่มี รมต.คนอื่นอยู่ในญัตติ

เป็นการอภิปรายตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะต้องมีการลงมติไม่ไว้วางใจหลังอภิปรายด้วย

หากเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของ สส.ทั้งสภา ซึ่งจำนวนเต็มคือ 500 ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 250 เสียงขึ้นไป ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง

แต่ขณะนี้ สส. ในสภาเหลืออยู่ 477 คน ดังนั้น ถ้า 239 เสียงขึ้นไปลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” ก็จะพ้นตำแหน่ง

สภากำหนดให้การอภิปรายมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. ส่วนจะพูดกันกี่วัน ต้องรอให้วิปรัฐกับฝ่ายค้านตกลงกันให้ได้ เพราะฝ่ายค้านอยากพูด 4 วัน ส่วนรัฐบาลจะให้วันเดียว ก็ต้องต่อรองกันให้จบให้ได้

ญัตติของฝ่ายค้านรอบนี้ มีการระบุถึง “บิดา” และ “ทักษิณ” ในญัตติด้วย

ADVERTISMENT

ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า แล้วจะอภิปรายถึงนายทักษิณได้อย่างไร เพราะอยู่นอกสภา ไม่ได้เป็น สส. ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล

แต่ไปมีตำแหน่งที่ปรึกษาอยู่ในสำนักงานของ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย ประธานอาเซียน

ADVERTISMENT

คาดว่าถึงวันอภิปรายจริง ประเด็นนี้ น่าจะทำให้เกิดการอภิปรายทักท้วง หรือประท้วงกันพอสมควร

โดยเฉพาะจากฝั่งของพรรคเพื่อไทย

ในญัตติของฝ่ายค้านที่มี สส.ฝ่ายค้านลงชื่อ 166 คน เขียนร้อยเรียงข้อความ สรุปออกมาเป็นประเด็นได้ 6 ประเด็น คือ

1.ไม่มีคุณสมบัติ และไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศชาติ

2.จงใจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว บิดา ครอบครัว และพวกพ้อง อยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม

3.ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม โกหกหลอกลวง ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เป็นนั่งร้านช่วยเหลือต่างตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

4.บริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง การปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทำลายนิติรัฐ ทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

5.เจตนาและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นภายใต้การบริหารงานของตนเอง ทั้งทุจริตเชิงนโยบาย บริหารบ้านเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น

6.สมัครใจยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ

ทั้ง 6 ข้อ คือเนื้อหาของ “ความไม่ไว้วางใจ” ซึ่งฝ่ายค้านคงจะหยิบยกเอา “รูปธรรม” ต่าง ๆ จากเหตุการณ์ในบ้านเมือง มาประกอบ

ให้ “นายกฯอิ๊งค์” ชี้แจง หรือตอบในวันอภิปราย

เป็นเรื่องน่าคิดว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่

โอกาสที่สภาจะมีมติไม่ไว้วางใจ นายกฯอิ๊งค์ จนทำให้พ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

เสียง ส.ส.รัฐบาลล่าสุด มี 320 (บวก/ลบ)เป็นต้นทุนคะแนน “ไว้วางใจ” ของนายกฯ ที่ต้องระวังไม่ให้หายไป

ระยะหลัง สื่อมักจับจ้องที่คะแนนไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ ว่าเต็มจำนวนที่ควรได้หรือไม่ หายหรือเพิ่มอย่างไร

แล้วหา “นัย” ของคะแนนที่ออกมา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายๆสมัยของรัฐบาล “บิ๊กตู่”เกิดการแข่งบารมีของ “2 ป.”

เกิดการเปรียบเทียบคะแนนบิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม ใครได้ไว้วางใจมากกว่าหรือน้อยกว่า

หรือใครได้คะแนนไม่ไว้วางใจ มากกว่าหรือน้อยกว่า

สะท้อนสภาพการเมืองในห้วงเวลานั้น

แต่เมื่อฝ่ายค้านอภิปรายนายกฯคนเดียวแบบนี้ ตัดปัญหาเรื่องคะแนนไปพอสมควร

เว้นแต่ว่า พรรคไหนมี “ความในใจ” หรือ “เรื่องอึดอัดใจ” และไม่อยากเก็บเอาไว้เงียบ ๆ

อยากจะส่ง “สัญญาณ” ออกมาให้เป็นที่รับรู้ ผ่านการลงคะแนน

เรื่่องอย่างนี้อาจจะเกิดหรือไม่เกิด

ก็เป็นได้ทั้งนั้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงระดับปรับ ครม.หรือยุบสภา ต้องมีเหตุที่สมน้ำสมเนื้อ

แต่เป็นเรื่องที่คิดได้