
บอร์ด กคพ.มีมติไม่รับคดีฮั้วความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือก สว. ส่วนฐานความผิดผิดอั้งยี่-ฟอกเงินรับเป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติ
เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 6 มีนาคม 2568 ที่กระทรวงยุติธรรม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ ในการประชุมมีวาระการพิจารณารับคดีอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ
ด้านสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฏว่า พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แจ้งลาการประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลติดภารกิจราชการ ซึ่งในการประชุมบอร์ด กคพ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ลาการประชุมด้วยเหตุติดภารกิจราชการและมีอาการเจ็บป่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2568 สัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง พบว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมเอง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าประชุมเอง นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าประชุมเอง นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย)
นายณรงค์ งามสมมิตร ที่ปรึกษากฎหมาย (ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์) นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (ผู้แทนอัยการสูงสุด) พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ไม่เข้าร่วมประชุม
นายนพดล เกรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ เข้าประชุมเอง นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย (ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เข้าประชุมเอง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าประชุมเอง รวมกรรมการโดยตำแหน่ง 12 ราย
สำหรับสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่านายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ เข้าประชุมเอง นางดวงตา ตันโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าประชุมเอง นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง
นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เข้าประชุมเอง พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา ไม่เข้าร่วมประชุม พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เข้าร่วมประชุม พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่เข้าร่วมประชุม และนายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร เข้าร่วมประชุม
รวมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 7 ราย ขาด 2 รายคือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ “ไม่รับ” เป็นคดีพิเศษ แต่ให้ดำเนินการตามความผิดมาตรา 21 (1) ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.สอบสวนคคีพิเศษ ซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม มติบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ มีหลักใจความสำคัญคือ ถ้าเป็นการรับคดีอาญาอื่นที่ไม่ใช่ความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (2) อาทิ ความผิดฐานอั้งยี่ (มาตรา 209) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ (มาตรา 116) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) จะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของกรรมการ กล่าวคือจำนวน 15 เสียง แต่ถ้าเป็นการชี้ขาดว่าให้เป็นความผิดฐานฟอกเงิน (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542) เพราะเข้าเงื่อนไขกรณีที่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อยู่แล้วนั้น จะเป็นคดีพิเศษได้โดยไม่ต้องอาศัยมติบอร์ด เพราะสามารถใช้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งได้เลย
หลังจากการประชุม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนชื่อเรื่องตามเสนอ และมีมติชี้ขาดให้ กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอมา เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ส่วนคดีอาญาใดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษดังกล่าว เช่น คดีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 รวมทั้งความผิดตามมาตรา 116 และ การกระทำความผิดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับการฟอกเงินทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 77 วรรคท้าย ย่อมเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง ที่จะทำการสอบสวนต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีมติให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสำนักงานกกต. ให้แจ้งสำนักงาน กกต. ทราบเพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป