เปิดเบื้องหลัง กคพ. ชี้ขาด ‘คดีฮั้วสว.เป็นคดีพิเศษในข้อหาฟอกเงิน’

เปิดที่มาของมติ กคพ.ชี้ขาดให้เดินหน้า ‘คดีฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษในข้อหาฟอกเงิน’ มาจากการชงของอนุกลั่นกรองฯ และจากฟอกเงินขยายไปถึงข้อหาอื่นได้ทันที

รายงานข่าวเปิดเผยเบื้องหลังการมีมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ให้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีฮั้ว สว.ในความผิดฐานฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ” โดยสืบเนื่องจากการประชุม กคพ.ครั้งที่แล้วเมื่อ 25 ก.พ. ซึ่งที่ประชุมให้เลื่อนการลงมติออกไปก่อน โดย 1.ให้รอความเห็นของ กกต. และ 2.ให้อนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปประชุมเพื่อนำเสนอกรอบการทำคดีนี้ให้ กคพ.พิจารณาก่อน

ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมร่วมกับ 4 ผู้แทนหน่วยงาน อันประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนมีมติว่าคดีนี้มีมูลเข้าข่ายคดีอาญาเป็นคดีพิเศษ

โดยได้สรุปเสนอให้ กคพ.พิจารณาใน 2 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 เสนอให้กคพ.พิจารณาให้เป็นคดีพิเศษ ในความผิดฐานอั้งยี่ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน

ส่วนแนวทางที่ 2 ให้พิจารณาตามฐานความผิดคดีฟอกเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของดีเอสไอในการทำคดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประเด็นความผิดต้องเกินวงเงิน 300 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน ยังไม่ชัดเจนในวงเงินเกิน 300 ล้านบาท

อนุกรรมการกลั่นกรองฯ จึงเสนอว่า หากจะให้ดีเอสไอดำเนินคดีนี้ด้วยข้อหาฟอกเงิน ต้องให้ กคพ.เป็นผู้ชี้ขาด โดย กคพ.ต้องมีมติชี้ขาด “ให้ดีเอสไอดำเนินคดีนี้ในฐานความผิดฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ”

ADVERTISMENT

ดังนั้น ในการประชุม กคพ.ล่าสุด จึงได้นำข้อเสนอของอนุกรรมการกลั่นกรองฯ 2 แนวทางดังกล่าวให้ กคพ.พิจารณา เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งง่ายต่อการดำเนินการ ไม่ต้องถกเถียงประเด็นอำนาจหน้าที่ซึ่งโยงใยกับอำนาจกกต. ดังนั้น จึงมีมติ 11 ต่อ 4 ชี้ขาด “ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีนี้ในกรอบคดีฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ” อีกทั้งหากการสอบสวนพบการกระทำผิดในเรื่องเดียวกันนี้ไปสู่ข้อหาอื่น เช่น อั้งยี่ ความผิด ม.116 ให้ดีเอสไอสามารถดำเนินการต่อได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติเป็นคดีพิเศษอีก