เปิดกฎหมายชี้ดีเอสไอทำคดีฟอกเงิน ขยายถึงอั้งยี่ และม.116 ได้เลย

เปิดกฎหมายชี้ชัดรองรับอำนาจดีเอสไอ ทำคดีฮั้ว สว.ฐานฟอกเงิน แล้วขยายไปคดีอั้งยี่ ม.116 ได้เลย ยันกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้มีมติตีตก 2 ข้อหานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่าน และมีมติ 11 ต่อ 4 ให้รับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งพิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ให้พิจารณาตามฐานความผิดคดีฟอกเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ในอำนาจของดีเอสไอในการทำคดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประเด็นความผิดต้องเกินวงเงิน 300 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน จึงเสนอว่า หากจะให้ดีเอสไอดำเนินคดีนี้ด้วยข้อหาฟอกเงิน ต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (กคพ.) ลงมติชี้ขาดรับเป็นคดีพิเศษ นำไปสู่การลงมติด้วยเสียง 11 ต่อ 4 ดังกล่าว

ทีั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ใน กคพ.เห็นว่าเป็นแนวทางที่ง่ายต่อการดำเนินการ ไม่ต้องมีปัญหาตีความอำนาจซ้ำซ้อนกับ กกต. อีกทั้งอำนาจตามกฎหมายคดีพิเศษนั้น หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบการกระทำผิดในเรื่องเดียวกันนี้ ไปสู่ข้อหาอื่น เช่น อั้งยี่ รวมทั้งความผิดต่อความมั่นคง ม.116 ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำคดีต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องขออนุมัติเป็นคดีพิเศษอีก ที่ประชุม กพค.จึงเลือกแนวทางนี้ แล้วมีมติโดยไม่ได้มีการลงมติในประเด็นอื่น ไม่ได้มีมติตีตกข้อหาอั้งยี่และ ม.116 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในเย็นวันที่ 6 มีนาคม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวผลการประชุมและลงมติของบอร์ด กคพ. โดยมีเนื้อหาเน้นย้ำว่า การมีมติชี้ขาดให้กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอมาเป็นคดีพิเศษ

“ส่วนคดีอาญาใดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษดังกล่าว เช่น คดีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 รวมทั้งความผิดตามมาตรา 116 และการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฟอกเงินทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 วรรคท้าย ย่อมเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง ที่จะทำการสอบสวนต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีมติให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แต่อย่างใด”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อตรวจสอบ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ในหมวดการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า “คดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ”

ADVERTISMENT