
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
วาระทางสังคมร้อนที่สุด ด่วนที่สุดของรัฐบาลเพื่อไทย
คือ การปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพราะทำให้คนไทยเดือดร้อนถ้วนหน้า
หนึ่งในบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการปราบปราม คือ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี
ทว่าในบรรดารัฐมนตรีแถวหน้า “ประเสริฐ” ถูกมองว่า “ไม่มีแสง” เพราะกระทรวงดีอี ที่เขาเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ประเสริฐ” ในฐานะที่ถูกมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ และประเด็นการเมืองที่เขาถูกมองว่า “ไม่มีแสง” แต่เขาไม่สน
ตัดทุกวงจรคอลเซ็นเตอร์
ประเสริฐเล่าภาพรวมในการเดินหน้านโยบายปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ว่า รัฐบาลได้ทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ ในการดำเนินการรัฐบาลมีการตัดกระแสไฟฟ้า ตัดสัญญาอินเทอร์เน็ต งดขายน้ำมัน ให้กับเมียนมาในเขตที่เป็นฐานของการกระทำผิดกฎหมาย ส่วนภารกิจหลักมีการปราบปราม ซิม-สาย-เสา ทั้งหมด
มาตรการที่จริงจัง ทั้ง ซิม สาย เสา ซิมคือดูพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ ว่าใครโทร.เกินกว่า 100 ครั้งต่อวัน สอง ดูว่าใครถือครองซิมโทรศัพท์เกินกว่า 60 ซิมขึ้นไป ต้องมาแสดงตน เรื่องสาย มีการดำเนินการตัดแล้ว ส่วนเสา เดิมมีความสูงมาก ให้ลดความสูงลง ต้องหันตัวส่งสัญญาณเข้ามาในฝั่งไทยเท่านั้น
เป้าหมาย ตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบการกระทำความผิด วงจรที่ว่าคือ ซิม สาย เสา ต้องเด็ดขาด เรื่องระบบการเงิน บัญชีม้า ม้าธรรมดา ม้านิติบุคคลต้องหมดไป การกวาดล้างในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ส่งไปหลอกลวงประชาชนต้องปราบให้หมด ต้องตัดทุกวงจร
กระทรวงดีอี มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ทำงาน ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้วเป็นประจำ และได้ออกพระราชกำหนดขึ้นมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามมากขึ้น
ยกตัวอย่างสาระสำคัญ เรื่องแรก การมีส่วนร่วมของสถาบันการเงิน โอเปอเรเตอร์ และแพลตฟอร์ม ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากความไม่รับผิดชอบ คุณต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ซึ่งขณะนี้ กฤษฎีกาขอแก้ไขข้อความ แต่ไม่แก้ไขสาระสำคัญ จึงยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยภายในเดือนนี้จะเรียกสถาบันการเงิน โอเปอเรเตอร์ และแพลตฟอร์ม เข้ามาพูดคุยทีละกลุ่ม ถึงความเข้าใจความรับผิดชอบในค่าความเสียหายว่าหมายถึงอะไร เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ก่อนประกาศใช้กฎหมาย โดยคาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปลายเดือนมีนาคมนี้
ผมได้ทำงานล่วงหน้าไปแล้ว เชิญสถาบันการเงินมาว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร โอเปอเรเตอร์เราบอกว่า การส่ง SMS ในอดีต ใครก็ส่งได้ SMS แล้วแนบลิงก์แอปดูดเงินเข้าไป แต่หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้ายังปล่อยให้มีเรื่องนี้เกิดขึ้น SMS ต้องมีการลงทะเบียนว่าใครเป็นผู้ส่ง ลิงก์ต่าง ๆ โอเปอเรเตอร์ต้องช่วยเราตรวจสอบด้วยว่าเป็นลิงก์ที่ใช้ในการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ถ้าคุณปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มาเพ่นพ่านในโทรศัพท์ คุณต้องรับผิดชอบ และแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องรับผิดชอบหากมีการปล่อยให้มิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์
คนไทยต้องปลอดภัย
หลังจากตัดสัญญาณแล้ว ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงหรือไม่ “ประเสริฐ” กล่าวว่า พบว่าสถิติการใช้ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถิติของคดีก็ลดลง ในส่วนของศูนย์ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ปัจจุบันมีการร้องเรียนประมาณ 3,000 สายต่อวัน โดยหลังเปิดศูนย์ประมาณหนึ่งปี ตัวเลขลง 40% หลังใช้มาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายลดลง 20% ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะลดลงทั้งความเสียหาย เงินลดลง
ก่อนหน้านี้ ความเสียหายกว่า 100 ล้าน แต่หลังเปิดศูนย์ ตัวเลขลดลงเหลือ 60-70 ล้าน และหลังมีมาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน โดยส่วนใหญ่มาจากการหลอกให้ลงทุนเงินดิจิทัล ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก แต่ค่าเสียหายน้อย และลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือซื้อของไม่ตรงปก
ซึ่งกระทรวงดีอี โดยศูนย์ AOC ได้ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีสถิติการระงับบัญชีม้าตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวนรวม 547,558 บัญชี โดยในปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 ระงับบัญชีม้าแล้วจำนวน 92,321 บัญชี ไม่รวมสถิติระงับหรืออายัดบัญชีม้าของ ปปง. และของธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการ
“คนไทยต้องปลอดภัยจากการคอลเซ็นเตอร์” ประเสริฐกล่าว
โต้ไม่มีแสง-กระทรวงไม่มีดาบ
ประเสริฐยอมรับว่า จริง ๆ แล้วกระทรวงดีอี เป็นงานแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น การปราบปราม ถ้าไม่อาศัยทหาร ฝ่ายความมั่นคงก็ทำได้ยาก ผมไม่มองว่าไม่มีแสงหรือมีแสง ผมมองว่าเป็นการทำงาน บูรณาการร่วมกัน ไม่อยากให้มองอย่างนั้น เพราะทุกคนมาช่วยกันทำงาน
ผมก็มีงานเป็นของตัวเองมาตลอด มาตรการที่ออกเป็นงานของดีอี ทั้งนั้น เช่น การให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกไป 1 บัญชี ต่อ 1 แอ็กเคานต์ เราทำงานของเรามาตลอด
ถามว่าเหนื่อยไหม เป็นภารกิจพูดว่าเหนื่อยไม่ได้ ต้องทำงาน เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็ต้องทำ ผมไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องทำอะไร ที่บอกว่าเราไม่มีแสง การใช้กำลังเราไม่มี ต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น นายกฯสั่งการได้หมด แต่ดีอีทำได้เฉพาะขอบเขตที่กระทรวงทำ อำนาจในการปราบปรามไม่มี การปราบปรามต้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตำรวจไซเบอร์ ก็อยู่ที่บังคับบัญชา อยู่ที่ สตช. กสทช.ก็เป็นองค์กรอิสระ
“ดีอีเป็นกระทรวงสำคัญ แต่ยังไม่มีดาบ”
ประเมินบทเรียนเพื่อไทย
ทว่าในมุมการเมืองพรรคเพื่อไทย แพ้พรรคประชาชน ทั้งสนาม อบจ. ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เหลืออีก 2 ปี ทำอย่างไรให้กระแสกลับมา “ประเสริฐ” กล่าวว่า เราต้องใช้ผลงานเป็นข้อพิสูจน์ ในฐานะที่เรามีโอกาสเป็นรัฐบาล ที่ผลงานออกไปประชาชนก็ชอบให้การสนับสนุน และต้องวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งประกอบไปด้วย เวลาอีก 2 ปีก็ไม่นาน แต่เรามีฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคที่ประเมินในเรื่องนี้อยู่
สำหรับการประเมินบทเรียน ทุกสนามมีปัจจัยในการชนะ การแพ้ บางเขตขึ้นกับปัจจัยตัวผู้สมัครเอง บางเขตสภาพแวดล้อมหลายอย่าง จะว่าเราไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่ สนาม อบจ.ชนะก็เยอะ พรรคประชาชนกลับได้รับเลือกตั้งสนาม อบจ.แค่จังหวัดเดียว แต่บทเรียนที่ผ่านมา เราก็ต้องนำไปแก้ไขว่ามีสิ่งไหนที่ต้องผิดพลาด
ส่วนการรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้พรรคฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอกแค่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เนื้อหา” ต้องโยงมาถึงดีอี ประเสริฐกล่าวว่า ในส่วนกระทรวงดีอี เราก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่แล้ว แน่ ๆ คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีให้เราได้ชี้แจง ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปแล้วบ้าง