
คดีเลือก สว.ที่เป็นปัญหาว่าดีเอสไอจะเข้าไปสอบสวนได้หรือไม่ การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เกิดขึ้นเมื่อ 6 มี.ค. โดยมี บิ๊กอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม เพื่อตัดสินเรื่องนี้
มติ กคพ.ชี้ขาดให้เดินหน้าคดีฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษในข้อหาฟอกเงิน มาจากการชงของอนุฯ กลั่นกรองฯ และจากฟอกเงินขยายไปถึงข้อหาอื่นได้ทันที
รายงานข่าวเปิดเผยเบื้องหลังการมีมติของ กคพ.ที่ให้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีฮั้ว สว. ในความผิดฐานฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ” โดยสืบเนื่องจากการประชุม กคพ.ครั้งที่แล้วเมื่อ 25 ก.พ. ซึ่งที่ประชุมให้เลื่อนการลงมติออกไปก่อน โดย 1.ให้รอความเห็นของ กกต. และ 2.ให้อนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปประชุมเพื่อนำเสนอกรอบการทำคดีนี้ให้ กคพ.พิจารณาก่อน
ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมร่วมกับ 4 ผู้แทนหน่วยงาน อันประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ก่อนมีมติว่า คดีนี้มีมูลเข้าข่ายคดีอาญาเป็นคดีพิเศษ และสรุปเสนอให้ กคพ.พิจารณาใน 2 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 เสนอให้ กคพ.พิจารณาให้เป็นคดีพิเศษ ในความผิดฐานอั้งยี่ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน
ส่วนแนวทางที่ 2 ให้พิจารณาตามฐานความผิดคดีฟอกเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของดีเอสไอในการทำคดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประเด็นความผิดต้องเกินวงเงิน 300 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนในวงเงินเกิน 300 ล้านบาท
อนุกรรมการกลั่นกรองฯ จึงเสนอว่า หากจะให้ดีเอสไอดำเนินคดีนี้ด้วยข้อหาฟอกเงิน ต้องให้ กคพ.เป็นผู้ชี้ขาด โดย กคพ.ต้องมีมติชี้ขาด “ให้ดีเอสไอดำเนินคดีนี้ในฐานความผิดฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ”
ในการประชุม กคพ.ล่าสุด วันที่ 6 มี.ค. จึงได้นำข้อเสนอของอนุกรรมการกลั่นกรองฯ 2 แนวทางดังกล่าวให้ กคพ.พิจารณา เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งง่ายต่อการดำเนินการ ไม่ต้องถกเถียงประเด็นอำนาจหน้าที่ซึ่งโยงใยกับอำนาจ กกต.
ดังนั้น จึงมีมติ 11 ต่อ 4 ชี้ขาด “ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีนี้ในกรอบคดีฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ” อีกทั้งหากการสอบสวนพบการกระทำผิดในเรื่องเดียวกันนี้ไปสู่ข้อหาอื่น เช่น อั้งยี่ ความผิด ม.116 ให้ดีเอสไอสามารถดำเนินการต่อได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติเป็นคดีพิเศษอีก
การเข้าไปลุยคดีนี้ของดีเอสไอ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
เพราะยังมี กกต.ในฐานะผู้ดูแลการเลือกตั้ง ยืนยันอำนาจของตนเองอยู่ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหา คือ สว.ก็สนับสนุนอำนาจของ กกต.
ในฐานะองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ มีอำนาจในมือหลายประการ
เมื่อดีเอสไอรับเรื่องนี้ สว.ตอบโต้ด้วยการพิจารณาญัตติพิจารณาปัญหากระบวนการยุติธรรม ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค.
มีการอภิปรายวิจารณ์ดีเอสไออย่างดุเดือด ก่อนสรุปความเห็นเสนอ ครม.เพื่อดำเนินการ
ประเด็นของการสอบสวนปัญหาการเลือก สว.ยังถูกโยงไปกับการเข้าพบนายกฯแพทองธาร และนายทักษิณ ชินวัตร ของแกนนำพรรคภูมิใจไทยในวันที่ 2 มี.ค.ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์นักข่าวทำเนียบเมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ มท.1 ไม่ได้ระบุว่าในการพบปะมีการพูดถึงการเลือก สว.หรือไม่
แต่คุยกันทุกเรื่อง ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และนโยบายรัฐบาล
แต่โมโตจีพี ไม่ได้คุยกัน เพราะเรื่องนี้อีกนาน
และเผยปัญหาร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กระทรวงการคลังให้นายกฯ รักษาการกฎหมายคนเดียว มหาดไทยได้ชี้แจงว่านายกฯ ดูแลคนเดียวอาจหนักเกินไป นายกฯ ก็เห็นด้วย ร่างล่าสุดก็ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมรักษาการ
นายอนุทินยังเผยว่า กรณีที่กฤษฎีกากำหนดให้คนที่จะเข้ากาสิโนมีเงินในบัญชีขั้นต่ำ 50 ล้านบาท อาจจะต้องมีการศึกษากันก่อน สำหรับกฎหมายที่รอเข้าสภาอยู่ มีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ร่าง พ.ร.บ.การพนันออนไลน์
เมื่อถามว่าได้หารือถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ได้ออกมาให้ความมั่นใจว่าพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนนายกฯ เต็มที่ วันนั้นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยห้ามลาห้ามขาด รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยทั้ง 8 คนต้องอยู่ในสภาเตรียมข้อมูล ที่ถูกพาดพิงก็ต้องตอบได้ จะไปหวังให้นายกฯ ตอบคนเดียวไม่ได้
คดีเลือก สว.จึงยังเป็น 1 ในปมยุ่งเหยิงของความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล