ถกวุ่นหาความลงตัว ญัตติอภิปราย ‘อิ๊งค์’

อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร
แพทองธาร ชินวัตร

ฝ่ายค้านหยอดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ไว้ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ คนเดียว กลายเป็นอภิปรายนายกฯ กับ “บิดานายกฯ” ไป

ในทางการเมือง หากมีข้อสงสัยที่ท้วงติงได้แบบนี้ ทางรัฐบาลไม่ปล่อยง่าย ๆ แน่นอน

สุดท้าย ประธาน วันมูหะมัดนอร์ มะทา สั่งให้ฝ่ายค้าน จัดการนำชื่อบุคคลที่ 3 ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุผลว่า เป็นคนนอก หากอภิปรายพาดพิงแตะต้องอาจเกิดการประท้วง เป็นอุปสรรคปัญหาในการดำเนินการประชุม และอาจจะโดนฟ้องร้องในภายหลัง

ขณะที่ทางฝ่ายค้านยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร และตอบโต้ว่า ประธานวันนอร์ บอกให้แก้ไขช้าไปไหม เพราะกฎหมายกำหนดให้แก้ไขใน 7 วัน ประธานสภายืนยันว่า ยังอยู่ในกำหนดเวลา ก็เลยเกิดการโต้เถียงกันอีก

ก่อนที่ประธานสภาจะยื่นคำขาดว่า หากไม่แก้ไข ก็จะไม่นำเอาญัตติมาบรรจุระเบียบวาระการประชุม ที่กำหนดวันประชุมไว้ 24 มี.ค. ก็ไม่ต้องอภิปรายกัน

เรื่องนี้ นักข่าวถามนายกฯอิ๊งค์ว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการนำชื่อคนนอกมาใส่ญัตติ นายกฯแพทองธารตอบว่า ไม่ควร ถ้าจะพูดถึงใคร คนนั้นต้องมีสิทธิโต้ตอบชี้แจง ถ้าไม่อยู่ในนั้น แล้วพูดถึงผ่านทีวี คนถูกพาดพิงจะทำอย่างไร ซึ่งไม่สมควร

ADVERTISMENT

ส่วนการตอบคำถามของฝ่ายค้าน นายกฯอิ๊งค์บอกว่า พร้อม จะคอยหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ว่าฝ่ายค้านจะถามอะไร และอภิปรายเรื่องอะไร จะพยายามเตรียมคำตอบให้ครบ เพราะไม่อยากไปถึงแล้วคำตอบไม่ครบ

ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า ประธานสภากับฝ่ายค้านจะหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้อย่างไร ในแบบไหน

ADVERTISMENT

เวลาของสมัยประชุมนี้ก็เหลือน้อย และมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมแล้ว ตั้งแต่ 11 เม.ย.นี้เป็นต้นไป

ขณะนี้ “หัวหน้าเท้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภา ยืนยันว่าคำสั่งแก้ไขจากประธานสภา เกินเวลา 7 วันแล้ว เป็นสิทธิของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติได้ และยืนยันว่าจะไม่แก้
และเผยด้วยว่า นายวันมูหะมัดนอร์พยายามจะคืนญัตติกลับมาให้ แต่ได้ปฏิเสธไป

ผู้นำฝ่ายค้านเล่าว่า วันนั้นคุยเรื่องนี้เกือบครึ่งชั่วโมง ประธานกังวลว่าบรรยากาศที่ประชุมมีการประท้วง แต่ได้ยืนยันว่า การที่ใส่ชื่อนายทักษิณลงในญัตติ จะทำให้อภิปรายอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ไม่ต้องพูดอ้อมค้อม

ประธานยืนยันกลับมาว่ากลัวมีพาดพิงคนนอก ซึ่งข้อบังคับไม่ได้ห้ามพาดพิงคนนอก แต่เขียนว่าไม่ให้พาดพิงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น ตนเองยืนยันว่าจำเป็น นายทักษิณเองเคยให้สัมภาษณ์ว่ามีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน ในตัวญัตติก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามที่นายทักษิณพูดด้วยซ้ำ การรับผิดชอบคำพูดของสมาชิกพาดพิงคนนอกที่ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นความรับผิดชอบของผู้อภิปราย ประธานสภาไม่เกี่ยว

นักข่าวถามว่า คิดว่าเป็นเกมการเมืองล้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ไม่ทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ หัวหน้าเท้งกล่าวว่า อยากให้ประธานสภาดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ ทางฝ่ายค้านยืนยันว่าประธานสภาไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจที่จะไม่บรรจุญัตติ เนื่องด้วยเนื้อหาตัวญัตติที่ผ่านมา การอภิปรายแทบทุกครั้งหนีไม่พ้นต้องพาดพิงบุคคลภายนอก

ประธานในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติควรทำคือการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ไม่ควรออกตัวรับแทนนายทักษิณ ไม่เช่นนั้นประชาชนส่วนหนึ่งจะมองได้ว่าประธานสภาพยายามปกป้องฝ่ายบริหารหรือไม่

ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้นำฝ่ายค้านย้ำมุมมองของฝ่ายค้าน

ศึกอภิปรายครั้งนี้ จะได้ฤกษ์เริ่มการอภิปรายเมื่อไหร่ก็ตาม แต่มีโพลของนิด้า สำรวจความเห็นประชาชน

สรุปได้ว่า มีตัวเลขที่เห็นว่า ไม่น่าจะอภิปรายนายกฯ คนเดียว ควรมี รมต.คนอื่น ๆ ด้วย เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

ซึ่งเข้าใจได้ว่า ฝ่ายค้านเคยออกข่าวว่า จะอภิปรายนายกฯ กับ รมต.อีกประมาณ 10 คน เรียกว่าสูตร 1+10 แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้สูตรนี้

ปรับเปลี่ยนมาอภิปรายนายกฯ เพียงคนเดียวแล้วพ่วงบิดานายกฯไว้ในญัตติด้วย

ผลสำรวจยังคาดการณ์ว่า การลงมติหลังอภิปรายจะไม่มีผลทำให้นายกฯ พ้นเก้าอี้ ยังเชื่อว่า นายกฯจะนั่งทำหน้าที่ต่อไป

และมีผลสำรวจที่เชื่อว่า หลังอภิปราย อาจจะมีการปรับ ครม.

เป็นความเห็นจากโพล แต่ก็เห็นเค้าของการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่พอสมควร